กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมศักยภาพและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน ซึ่งในการดำเนินการตามภารกิจต้องกระทำ โดยการกำหนดมาตรการกลสนับสนุนภาครัฐและเอกชน ให้ดำเนินการตามนโยบายและตามมาตรการที่กำหนดเพื่อให้เด็กและเยาวชนรับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและส่งเสริมศักยภาพเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยมีกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลหลายฉบับ ประกอบกับคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับแต่งตั้ง โดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีหน้าที่ยกร่างกฎหมายเพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘

ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง พบว่าในการปฏิบัติตามกฎหมายดั่งกล่าวเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการปฏิบัติงานได้เต็มที่ในหลาย ๆ ด้าน จึงทำให้เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางกรแพทย์ไม่ได้รับกาปกป้อง คุ้มครอง ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งในปัจจุบันยังพบว่ามีคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในทางผิดกฎหมาย รวมถึงการให้คนไทยมารับจ้างตั้งครรภ์แทน เมื่อคลอดแล้วจึงนำเด็กออกไปนอกราชอาณาจักร หรืออาจนำเด็กไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถติดตามตัวเด็กและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรงไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายในการดำเนินการได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมายและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานและให้การคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย ได้นำปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานและปัญหาของบุคลากรที่ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาร่วมหารือและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันร่วมถึงช่องว่างของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ที่ไม่สามารถเข้าถึงและเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.

เพื่อเป็นแนวทางในการขจัดปัญหาและอุปสรรคที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ตามสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงได้จัดโครงการเสวนาปรึกษาหารือ กรณี : ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นที่เกี่ยวข้องแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ในวันอังคารที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและทราบถึงสาเหตุของปัญหาในการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ขึ้นตลอดจนร่วมกันหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป