สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ว่า นพ.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ โอไมครอน ว่าแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องศึกษาอย่างละเอียด เกี่ยวกับเชื้อโรคกลายพันธุ์ตัวนี้

อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ในเบื้องต้นบ่งชี้ “ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนทางวิทยาศาสตร์” ว่าเชื้อโอไมครอนก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงกว่าเชื้อเดลตา


ขณะเดียวกัน ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดด้วยว่า เชื้อโอไมครอนสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งกระตุ้นด้วยวัคซีนโควิด-19 ที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ นพ.ไรอันเน้นย้ำว่า วัคซีนโควิด-19 ทุกแบบที่ผ่านการรับรองเป็นกรณีฉุกเฉินจากดับเบิลยูเอชโอ “มีประสิทธิภาพเพียงพอ” ในการบรรเทาความเสี่ยงและความรุนแรง ของอาการป่วยหนักและการเสียชีวิต จากเชื้อไวรัสโคโรนาทุกสายพันธุ์ที่วนเวียนอยู่บนโลก ณ เวลานี้


แม้เชื้อโอไมครอน หรือบี.1.1.529 มีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง จากจำนวนดังกล่าวมากกว่า 30 ตำแหน่งอยู่ที่โปรตีนหนาม ซึ่งเป็นส่วนที่เชื้อไวรัสใช้เกาะจับกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ และผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าเป็นสัญญาณเตือนการที่วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงต่อเชื้อตัวนี้ แต่ นพ.ไรอันกล่าวว่า “เป็นไปได้ยากมาก” ที่การกลายพันธุ์ทั้ง 30 ตำแหน่งนั้น คือการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์


เกี่ยวกับ “การเข้ามาแทนที่” ของเชื้อโอไมครอนต่อเชื้อเดลตา และอาจกลายเป็น “สายพันธุ์หลัก” นั้น นพ.ไรอันกล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย” เนื่องจากเมื่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ แนวโน้มส่วนใหญ่จะแพร่กระจายได้ง่ายและเร็วขึ้น พูดให้ง่ายคือ “เชื้อไวรัสก็ต้องแข่งขันกันเองเหมือนกัน” ในส่วนของโรคโควิด-19 นั้น “ธรรมชาติ” ของเชื้อไวรัสโคโรนาทุกสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง “ยังคงเดิม” จึงเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดดับเบิลยูเอชโอต้องการให้ชาวโลกร่วมกันฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES