วันนี้ (14 ก.ค.)  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 2/2564 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้นำเสนอวาระเพื่อพิจารณา “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2564–2570)” โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จะแบ่งเป็นชุดโครงการระยะเร่งด่วน ดำเนินการภายใน 2 ปี (พ.ศ. 2564-2565) และระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้ AI เพื่อช่วยยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพประชาชน

สำหรับโครงการระยะเร่งด่วน ช่วง 2 ปีนี้ มุ่งเน้นการเตรียมพร้อมกำลังคนด้าน AI ของประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้นำร่องใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ด้านการแพทย์และสุขภาวะ การเกษตรและอาหาร และการใช้งานและบริการภาครัฐ โดยเน้นย้ำถึงการสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับ ทั้งในส่วนของกำลังคนที่ผลิตได้จากสถาบันการศึกษาต่างๆ และการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ AI สามารถช่วยยกระดับมูลค่าของธุรกิจ หรือบริการที่ดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AI ตามแผนงาน 7 ปี จะสร้างทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีศักยภาพตามสาขาความต้องการด้าน AI เพิ่มขึ้น 20% ต่อปี หรือประมาณ 7 แสนคนใน 7 ปี เกิดการลงทุนด้าน AI ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี หรือ 3 หมื่นราย ใน 7 ปี เกิดธุรกิจใหม่และนวัตกรรมบริการที่ใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 700 ราย ใน 7 ปี ตลอดจนยกระดับ ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ

ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้โอนทรัพย์สิน อุปกรณ์และโครงข่ายฯ รวมถึงระบบควบคุมส่วนกลางภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ให้กับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ภายในวันที่ 31 ต.ค.64 โดย เอ็นทีจะต้องบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องในราคาถูก รวมทั้งบำรุงรักษาทรัพย์สินดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

“กระทรวงดีอีเอส โดย เอ็นที จะร่วมมือกับท้องถิ่น จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้วางโครงข่ายเน็ตประชารัฐครอบคลุมไว้แล้วเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงมอบนโยบายให้ท้องถิ่น รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีบริการดังกล่าว ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ช่วยกันรับผิดชอบดูแลโครงการนี้ ไม่ให้มีการนำ ฟรี ไว-ไฟ ไปใช้ในทางที่ผิดด้วย” ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าว