เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทโมเดอร์นา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐ ได้ประกาศความคืบหน้า เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ทางโมเดอร์นา จะใช้ในการจัดการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529) อันเป็นสายพันธุ์น่ากังวลของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่งอุบัติใหม่
สำหรับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ที่เพิ่งมีการค้นพบเร็ว ๆ นี้ พบว่าตัวไวรัสเองมีการกลายพันธุ์เช่นเดียวกับที่พบในสายพันธุ์เดลตา เชื่อว่ามีส่วนเพิ่มความสามารถในการติดต่อแพร่กระจายของเชื้อ นอกจากนี้ ยังพบการกลายพันธุ์เช่นเดียวกับที่พบในสายพันธุ์เบตาและเดลตา ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนส่งเสริมความสามารถในการหลบหนีภูมิคุ้มกันของตัวเชื้อ
เมื่อการกลายพันธุ์ทั้งสองประเภทนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการเร่งของอัตราการลดลงของระดับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน ขณะนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาสูตร mRNA-1273 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับประชากรส่วนใหญ่นั้น เป็นขนาด 50 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ปัจจุบัน ในการกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเท่านั้น
โมเดอร์นากําลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของปริมาณวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน ต่อการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน และคาดว่าจะมีข้อมูลออกมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ตั้งแต่ต้นปี 2564 โมเดอร์นาได้พัฒนากลยุทธ์ที่ครอบคลุม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสายพันธุ์น่ากังวลชนิดใหม่ ๆ ที่อาจอุบัติขึ้นมา กลยุทธ์นี้ได้แก่ แนวทางการรับมือสามระดับ กรณีหากพบว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตร mRNA-1273 ขนาด 50 ไมโครกรัม ไม่สามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกัน ในระดับที่เพียงพอต่อการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้
กลยุทธ์ที่หนึ่ง โมเดอร์นาอยู่ในระหว่างการดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตร mRNA-1273 ในขนาด 100 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ขณะนี้ ทางบริษัทโมเสร็จสิ้นขั้นตอนการฉีดวัคซีน ในอาสาสมัครผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 306 คน เพื่อศึกษาความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนเข็มกระตุ้นขนาด 100 ไมโครกรัมนี้เรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง สำหรับวัคซีน mRNA-1273 ขนาด 100 ไมโครกรัม ที่ใช้เป็นเข็มกระตุ้น ได้มีการศึกษามาก่อนหน้านี้แล้วโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health, NIH) ของสหรัฐอเมริกา และพบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อต่อไวรัส SARS-CoV2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีการแพร่ระบาดมาก่อนหน้านี้ในระดับที่สูงที่สุด ทางโมเดอร์นาเองกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบซีรั่ม จากเลือดของอาสาสมัครผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นขนาด 100 ไมโครกรัม อย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการตรวจสอบว่า จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อและป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่
กลยุทธ์ที่สอง โมเดอร์นากําลังอยู่ระหว่างการศึกษาวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดผสมสองสูตร ที่บริษัทพัฒนาขึ้นในขั้นตอนการวิจัยทางคลินิก โดยวัคซีนสูตรผสมดังกล่าวถูกออกแบบมา เพื่อรับมือกับลักษณะการกลายพันธุ์ที่มีความจำเพาะเจาะจง ดังเช่นที่ปรากฏในสายพันธุ์โอไมครอน โดยวัคซีนสูตรผสมชนิดแรกคือ วัคซีน mRNA-1273.211 ที่ได้มีการรวบรวมเอาการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งในไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏอยู่ในสายพันธุ์เบตาเช่นกัน
ขณะนี้ โมเดอร์นาเสร็จสิ้นขั้นตอนการฉีดวัคซีน mRNA-1273.211 ขนาด 50 ไมโครกรัม (จำนวนอาสาสมัครที่ 300 คน) และ ขนาด 100 ไมโครกรัม (จำนวนอาสาสมัครที่ 584 คน) เรียบร้อยแล้ว
ส่วนวัคซีนสูตรผสมชนิดที่สอง คือวัคซีน mRNA-1273.213 อันเป็นวัคซีนที่ได้รวบรวมเอาการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ในไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ที่พบในสายพันธุ์เบตา และเดลตาเช่นเดียวกัน ทางโมเดอร์นาเสร็จสิ้นขั้นตอนการฉีดวัคซีนสูตรผสมที่สองนี้ในขนาด 100 ไมโครกรัม (จำนวนอาสาสมัครที่ 584 คน) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการวางแผนที่จะทดสอบวัคซีนดังกล่าว ที่ขนาด 50 ไมโครกรัม ในอาสาสมัครจำนวน 584 คน เป็นลำดับต่อไป
หลังจากนี้ ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการทดสอบซีรั่มจากเลือดของอาสาสมัครจากโครงการวิจัยวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เป็นสูตรผสมนี้ทั้งในส่วนที่เสร็จสิ้นแล้ว และส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อทดสอบว่าวัคซีนสูตรผสมทั้งสองชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อ และป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่
กลยุทธ์ที่สาม โมเดอร์นาจะเร่งดำเนินการพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่ ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน (วัคซีนสูตร mRNA-1273.529) โดยด่วน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของโมเดอร์นา ที่สามารถผลิตวัคซีนสูตรใหม่ขึ้นมา เพื่อรับมือกับไวรัสกลุ่มสายพันธุ์น่ากังวลที่มีการอุบัติใหม่ขึ้นมาได้ในเวลาไม่นาน
ในปีนี้ โมเดอร์นาได้พัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งมีความจำเพาะต่อไวรัสทั้งสายพันธุ์เบตาและเดลตามาแล้ว ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของบริษัท ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่ สำหรับใช้ในการทดสอบทางคลินิก ให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลา 60-90 วัน.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
[email protected]