เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน กับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาทิ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (คณะทำงานฝ่ายนโยบายด้านการศึกษาของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รวมถึงผู้บริหารองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) กฏหมายเขียนไว้ว่า ต้องพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพราะฉะนั้น หลักๆ จริงๆ ก็คือว่า ศธ.ไม่ได้ปฏิรูปหลักสูตร แต่ ศธ.จะต้องปฏิรูปการเรียนรู้ และเน้นActive Learning ซึ่งสิ่งที่กฎหมายปฏิรูปกำหนดให้ ศธ.ทำคือ จะต้องอบรมพัฒนาครูในเรื่องการเรียนการสอนแบบActive Learning และให้ครูนำไปใช้ นอกจากนี้ กฎหมายปฏิรูปยังกำหนดให้ ศธ.ดำเนินการเรื่องการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาที่ร่วมมือกับสถานประกอบการ ส่วนเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ น.ส.ตรีนุช ต้องการจะทำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก และปัจจุบัน น.ส.ตรีนุช ก็เน้นเรื่องการเรียนการสอนแบบActive Learning อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาครูในเรื่องการเรียนการสอนแบบ Active Learning ไประดับหนึ่งแล้วต่อไป ศธ.ก็จะเน้นให้มากขึ้น ในขณะที่เรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเป็นผู้ไปดำเนินการ ดังนั้นจึงเห็นร่วมกันว่าทุกอย่างที่ ศธ.ทำ จะยืนตามแผนปฏิรูปประเทศ พร้อมๆ กันนั้น หลักสูตรฐานสมรรถนะก็จะดำเนินไปพร้อมกับการปรับการเรียนการสอนของครูให้เป็นแบบ Active Learning  

ต่อข้อถามว่า ส่วนงบประมาณของ ศธ.ที่จะต้องสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศ กับการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะเป็นอย่างไร ดร.สุภัทร กล่าวว่า ถ้าในแง่ของตน เรื่องของการทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ วิธีของเขา เขาก็ทำไปในส่วนของงบประมาณ ส่วนการพัฒนาครูให้ปรับการเรียนการสอนไปเป็นแบบ Active Learning เป็นเรื่องที่อยู่ในแผนงานของ สพฐ.อยู่แล้ว ทุกอย่างที่ ศธ.ทำ จะยืนตามแผนปฏิรูปประเทศ พร้อมๆ กันนั้น หลักสูตรฐานสมรรถนะก็จะดำเนินไปพร้อมกับการปรับการเรียนการสอนของครูให้เป็นแบบ Active Learning

ปลัด ศธ. กล่าวอีกว่า ต่อไปเรื่องการปรับการเรียนการสอนของครูเป็นแบบ Active Learning นั้น ศธ.จะต้องเข้าไปประสานทำงานร่วมกับคุรุสภา เพื่อให้ทางคุรุสภากำหนดเงื่อนไขการพัฒนาเส้นทางวิชาชีพในการยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ครูจะต้องผ่านการอบรมพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยให้สถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เข้ามาดูแลเรื่องการรับรองหลักสูตรการอบรมที่สำคัญและได้มาตรฐาน รวมไปถึงการที่ครูจะได้รับวิทยะฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ หรือเชี่ยวชาญนั้น ควรมีการอบรมโดยสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งต้องกำหนดเรื่องเนื้อหาของหลักสูตรและดีกรีของหลักสูตรในการพัฒนาการเรียนการสอนของครูแบบActive Learning ด้วย