เรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ณ วันนี้เป็นมรสุมระดับทอร์นาโดที่รุมเร้ารัฐบาลอย่างรุนแรง ล่าสุดมีการสั่งเพิ่มมาตรการใน 10 จังหวัด ลักษณะกึ่งๆ ลอคดาวน์ ซึ่งมีผลถึงวันที่ 25 ก.ค.นี้ ขณะที่เรื่องเยียวยา ปิดสถานประกอบการไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือน เม.ย.ก็ยังเยียวยาไม่เรียบร้อยดี ต้องคิดแผนเยียวยารอบใหม่อีก
การเคลื่อนไหวทางฝั่งการเมืองก็มีอยู่ คือการเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้งได้ 2 ใบ ส่วนร่างแก้ไขของภาคประชาชนให้แก้ ม.256 และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) คงต้องรอความหวังในสมัยประชุมรัฐสภาครั้งหน้า ว่าจะมีการบรรจุเรื่องนี้เข้าพิจารณาหรือไม่ และต้องหวังว่าจะไม่มี“ไอ้เข้ขวางคลอง”ที่ไหนอีก
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) เดินหน้าไปเร็วกว่าเพื่อนในการเตรียมตัว คือมีการตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่ตัวเด็ดคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขึ้นนั่งเลขาธิการพรรค โดย ร.อ.ธรรมนัสก็ประกาศในเชิงเตรียมการ“ทำพื้นที่”เพื่อรับการเลือกตั้ง และผลักดันให้ พปชร.เป็นสถาบันทางการเมือง
ก็ต้องยอมรับว่า ขณะนี้“วิกฤติศรัทธา”กระทบต่อฝ่ายรัฐบาลเต็มๆ จากการแก้ปัญหาโควิด“ไม่ตรงใจ”ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ซึ่งพรรคที่รับหน้าเสื่อไปเต็มๆ คือ พปชร. ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมเป็นนายกฯ อีกสมัย และพรรคภูมิใจไทยในฐานะคุมบังเหียนกระทรวงสาธารณสุข
มีความเห็นที่หลายคนเริ่มแสดงออกว่า“บางพรรคร่วมรัฐบาลควรทบทวนท่าทีได้แล้ว” ไม่ใช่เห็นแก่มารยาททางการเมือง เพราะดูท่าทางว่าพินอบพิเทาเราสู้กันต่อไป มีโอกาสที่จะกลายเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิมในการเลือกตั้งครั้งหน้า หลายสายตาเริ่มพุ่งมองไปที่พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร เพราะเป็นพรรคลำดับ 3 ในรัฐบาล
ขณะนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรค กำลังเดินสายสร้างคะแนนนิยมในภาคอีสาน ชนิดที่ออกงานแจกเช็คชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรรายสัปดาห์ ย้ำเรื่องประกันราคาสินค้าเกษตร พยายามหาลู่ทางในการลดค่าใช้จ่ายประชาชน หรืออำนวยความสะดวกในการซื้อของช่วงโควิด
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เราก็เห็นว่า ประชาธิปัตย์ถูก“เจาะยาง”ไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่เจ็บปวดที่สุดคือในจังหวัดภาคใต้ที่ทั้ง พปชร.และภูมิใจไทยแย่งเก้าอี้เดิมได้ และใน กทม.ที่เรียกได้ว่า ส.ส.สูญพันธุ์ไปเลย เพราะการ“เดินเกมพลาด” ที่พยายามเสนอตัวเป็นพรรคทางเลือกที่สาม ในขณะที่กระแสเลือกตั้งแบ่งขั้วเป็น“เอาลุง-ไม่เอาลุง”
และ ณ วันนี้ มันก็มีภาพฟ้องอยู่แล้วว่า กระแส“เอาลุง-ไม่เอาลุง”ก็กลับมาใหม่แบบชัดเจนกว่าเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ใช้อินเทอร์เนตนี่ภาพชัดเจนมาก และคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะไปโน้มน้าวที่คนรอบตัว คนที่บ้าน อธิบายถึงปัญหาการทำงานของรัฐบาลเพื่อเป็นตัวแปรในการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งหน้า
การเคลื่อนไหวของ พปชร. และการเร่งแก้รัฐธรรมนูญ อาจเป็นตัวแปรในการส่งสัญญาณว่า “รัฐบาลนี้อยู่ไม่ครบเทอม” คราวนี้ก็เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ถ้าอยากกลับมา ก็ต้องเริ่มมีท่าทีให้เห็นชัดตั้งแต่วันนี้ว่าจะวางตัวต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาลอย่างไร เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนก็ส่วนหนึ่ง จุดยืนทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่คนอยากเห็น
และต้องแสดงจุดยืนในนามพรรคอย่างเข้มแข็ง มั่นคง ไม่ใช่ส่งตัวเล็กตัวน้อยมาตอด จิกกัดรัฐบาลในบางเรื่อง ความไม่พอใจต่อซิโนแวคเรื่องเดียวอาจเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่ทำให้เสียงฝั่ง“ไม่เอาลุง” รวมตัวกันได้ถึง 376 เสียง โดยไม่ต้องพึ่งเสียงฝั่ง ส.ว.ก็ได้ การวัด “ความกล้าหาญ”แรกอาจมาในรูปแบบการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพื่อไทยจะยื่นเร็วๆ นี้
ในภาวะการเมืองสองขั้ว การตัดสินใจต้องรอบคอบและชาญฉลาด เพื่อพรรคจะกลับมาใหญ่ได้อีก.