นางแจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทย กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า กูเกิล, เทมาเส็ก และ Bain & Company ได้ทำรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 6 พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ในปี 64 จะมีมูลค่าแตะ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท และมีเพิ่มเป็น 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือ 10.8 ล้านล้านบาท ในปี 68 โดยในส่วนของประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9 แสนล้านบาท ในปี 64 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

“ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้คาดว่าในปี 68 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะที่ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.71 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของ อีคอมเมิร์ซ สื่อออนไลน์  การขนส่งและบริการส่งอาหาร โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซเติบโต ถึง 68% จากปีก่อน มีมูลค่าถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.3 แสนล้านบาทในปี 64 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.05 ล้านล้านบาทในปี 68”

นางแจ็คกี้ กล่าวต่อว่า อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในทศวรรษหน้า ส่วน สื่อออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 29% โดยมีมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.35 แสนล้านบาทในปี 64 นอกจากนี้ยังพบว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดทำให้มีเกมเมอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการซื้อเกม และใช้จ่ายในเกมเป็นตัวขับเคลื่อน

ในส่วนของการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ เติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6 หมื่นล้านบาท ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยหันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดย 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ขณะที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภคและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน

“ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคนนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 63 ถึงครึ่งแรกของปี 64 โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากฟิลิปปินส์ โดยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 90 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และผู้ใช้งานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้งานต่อไปในอนาคต โดยกว่า 96% ของผู้ใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และ 98% คาดว่าจะใช้งานต่อไปในอนาคต ผู้ที่เคยใช้บริการดิจิทัลก่อนการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น 3.9 บริการนับตั้งแต่มีการระบาด ระดับความพึงพอใจที่มีต่อบริการทุกประเภทอยู่ที่ 87%”

นางแจ็คกี้ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 440 ล้านคน และที่สำคัญ 350 ล้านคนในจำนวนนี้ หรือประมาณ 80% เป็นผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้บริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งรายการ นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ถึง 60 ล้านราย โดย 20 ล้านรายในจำนวนนี้เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งแรกของปี 64 เท่านั้น