ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้ให้การส่งเสริมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับครัวเรือนของพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมชายฝั่งทะเล  ซึ่งกรอบแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คือ ทุกครัวเรือนต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นอันดับแรก สำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเล ศอ.บต. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรมประมง กรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง จังหวัด/อำเภอ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร ขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูชายฝั่งทะเลและส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเล โดยเน้นเป็นปูดำ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ได้เริ่มพัฒนาองค์ความรู้และทดลองเลี้ยงในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ต่อมาในปี พ.ศ.2564 ขยายผลในพื้นที่ 5 อำเภอชายฝั่งทะเล ซึ่งประกอบไปด้วย อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา อำเภอหนองจิก                  อำเภอยะหริ่งและอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 10 กลุ่ม รวม 200 ครัวเรือน ใช้พื้นที่เลี้ยงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ บ่อ ซึ่งเป็นบ่อนากุ้งร้าง บ่อปลาหรือบ่อดินและป่าชายเลน ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 3-5 เดือน ก็จะสามารถออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้

พล.ร.ต. สมเกียรติ  ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. มีนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยเป็นศูนย์กลางในการประสานงานต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็งและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่อย่างแท้จริง พื้นที่ชายฝั่งทะเลก็ต้องพัฒนาส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับคนในชุมชน ชายฝั่งทะเลมีจุดแข็งคือประชาชนมีประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งอยู่แล้ว บางคนเคยเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงปู อีกหนึ่งจุดแข็งคือ มีสถาบันทางวิชาการ    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาช่วยเติมเต็ม ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกภาคส่วนทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานของกระทรวงเกษตร กรมประมง รวมไปถึงมีคนรุ่นใหม่เข้ามาคิดต่อยอดในการแปรรูปให้เก็บได้นาน ทั้งปูเค็ม ปูดอง เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายช่องทางการตลาด ทำให้เห็นว่าความยั่งยืนในระดับฐานรากเริ่มก่อตัวขึ้นทีละจุด

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเลี้ยงปูดำ ต.บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็น 1 ในพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมจาก ศอ.บต.  โดย ต.บางตาวา มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล แต่ปรากฏว่ามีน้ำจืดตลอดทั้งปี จึงได้ชื่อว่าบางตาวา ซึ่งแปลว่า น้ำจืด เป็นตำบลเล็กๆ ที่มี 2 หมู่บ้าน ประชากร 3,861 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงเป็นอาชีพหลักและรับจ้างเป็นอาชีพรอง นางตูแวสนะห์ ตูแวกาลิเปาะ รองประธานกลุ่มเพาะเลี้ยงปูดำ ต.บางตาวา ได้เล่าถึง จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงปูดำว่า เริ่มเลี้ยงภายในครอบครัวก่อนแล้วค่อยมาก่อตั้งเป็นกลุ่ม โดยซื้อลูกปูจากชาวบ้านมาปล่อยในบ่อ ต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มาเข้ามาเยี่ยมชมบ่อและให้คำปรึกษาในด้านวิชาการ พร้อมทั้งมอบพันธุ์ปูให้นำมาเพาะและอนุบาล ผลปรากฏว่า อัตรารอดลูกปูมีมากถึง 80% ดีกว่าตำบลอื่นๆ ที่เคยวิจัยมา ต่อมา ศอ.บต. ได้มอบพันธุ์ปูเพิ่มอีก 22,000 ตัว ปัจจุบันเลี้ยงปูมา 111 วันแล้ว และได้จำหน่ายไปแล้ว 10,000 ตัว คิดเป็นมูลค่า 125,000 บาท และยังมีปูในบ่อที่ยังรอจำหน่ายอีกประมาณ 10,000 ตัว ส่วนใหญ่พ่อค้าคนกลางมารับปูไปขายในเมือง รวมทั้งจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และมีลูกค้าเดินทางมาสั่งด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ศอ.บต.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงปูทะเล เพื่อเป็นอีกหนึ่งอาชีพของประชาชนชายฝั่งทะเล นอกเหนือจากอาชีพประมงหวังให้มีรายได้หลายช่องทางและสร้างความภาคภูมิใจการประกอบอาชีพ ผสมผสานกับวิถีชีวิตท้องถิ่น เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืนต่อไป