โครงการการดำเนินการทางสภาพภูมิอากาศเพื่อการฟื้นฟูเอเชีย (CARA) เป็นโครงการระยะเวลา 7 ปี ที่จัดทำขึ้นเพื่อบรรลุประเด็นหลัก 3 ด้าน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการให้เงินสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ อนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางธรรมชาติ และโครงการที่ช่วยให้ชุมชนที่เปราะบางริเริ่มความพยายามปรับตัวในระดับท้องถิ่น

โครงการเงินทุนระดับภูมิภาคนี้จะร่วมมือกับรัฐบาล สถาบันในระดับนานาชาติในเอเชีย เมือง ชุมชนในระดับท้องถิ่น และภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนทางแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (nature-based solutions) พัฒนานโยบายและการวางแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศและสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการฟื้นฟูเมือง

โครงการนี้มุ่งสนับสนุนผู้คนถึง 14.4 ล้านคน ให้ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น กระตุ้นเงินลงทุนเพื่อการฟื้นตัวจากปัญหาสภาพภูมิอากาศจากภาครัฐและเอกชนราว 1.4 พันล้านปอนด์ (ราว 62,259 ล้านบาท) และปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่าถึง 130 ล้านปอนด์ (ราว 5.8 พันล้านบาท)

นางอแมนดา มิลลิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ฝ่ายกิจการเอเชีย) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักร กล่าวว่า

“การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศไม่มีเขตแดน ประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นแนวหน้าเผชิญวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีชุมชนที่เปราะบางที่เสี่ยงประสบภัยจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น พายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง และภัยแล้ง

เงินสนับสนุนก้อนใหม่จากสหราชอาณาจักรนี้ จะให้ผ่านพันธมิตรระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยชุมชนในระดับท้องถิ่น เมือง และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเติบโตของสังคมคาร์บอนต่ำ

ความหลากหลายทางชีวภาพจะได้รับการปกป้อง ระบบการพยากรณ์สภาพอากาศได้รับการพัฒนา และเมืองต่าง ๆ จะได้รับการออกแบบวางแผนให้ทนทานต่อน้ำท่วมและพายุ และจะมีการระดมเงินทุนให้ชุมชนรากหญ้าที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด”

โครงการ CARA จะเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ผ่านโครงการความร่วมมือหลายโครงการที่นำโดยกรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร ธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการ (ICIMOD).

ขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS