นางซิติ นูร์บายา บาการ์ รมว.สิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย กล่าวเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจาการ์ตาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุติการตัดไม้ทำลายป่า และการเพิ่มมาตรการปกป้องทรัพยากรดิน ภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายในปี 2573 ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ครั้งที่ 26 หรือ “คอป 26” ที่เมืองกลาสโกว์ “เป็นการข่มขู่ที่ไม่ยุติธรรมและไม่เหมาะสม”

เธอกล่าวต่อไปว่า อินโดนีเซียกำลังเร่งโครงการพัฒนาหลายระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายด้าน ซึ่งไม่สามารถหยุดชะงักได้ เพียงเพราะเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการยุติการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศ “ให้คำนิยามแตกต่างกัน” ดังนั้น อินโดนีเซีย “ไม่สามารถให้คำมั่นกับสิ่งที่ทำไม่ได้” และตะวันตกไม่ควรใช้มาตรฐานของตัวเองกับอินโดนีเซีย

DW News

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียพยายามคลี่คลายสถานการณ์ ด้วยการออกแถลงการณ์ว่า คำประกาศเรื่องการยุติการตัดไม้ทำลายป่า “ไม่ได้หมายความว่าต้องสิ้นสุดภายในปี 2573” แต่เป็นการที่มากกว่า 100 ประเทศซึ่งลงนามนั้น “ให้หลักประกันร่วมกันอย่างจริงจัง” ว่าจะไม่มีการสร้างความเสียหายและทำลายผืนป่าอีก

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของรัฐมนตรีถือเป็นการส่งสัญญาณท้าทายให้แก่เป้าหมายนี้ตั้งแต่ต้น จากการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศซึ่งมีพื้นที่ป่าเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรวมกับบราซิล และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ( ดีอาร์คองโก ) แล้ว พื้นที่ป่าของทั้งสามประเทศมีอาณาบริเวณครอบคลุมมากถึง 85% ของผืนป่าทั้งโลก นอกจากนั้น ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก และเฉพาะเมื่อปี 2562 มีการแผ้วถางป่าเป็นพื้นที่เทียบเท่ากับประเทศเบลเยียม เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกปาล์ม

ทั้งนี้ อินโดนีเซียไม่ได้นำเสนอเป้าหมายเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า ต่อคณะกรรมการของยูเอ็นเอฟซีซีซีปีนี้ แต่ระบุว่า ได้มีการขยายอาณาเขตของพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้น 26.1% จาก 51.8 ล้านเฮกเตอร์ เป็น 65.3 ล้านเฮกเตอร์ ระหว่างปี 2563-2567

นับตั้งแต่ปี 2561 ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ใช้คำสั่งพักการออกใบอนุญาตปลูกปาล์ม เนื่องจากเป็นต้นเหตุของการเกิดไฟป่าครั้งใหญ่หลายครั้ง ซึ่งนับจากนั้น อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซียลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีเมื่อปีที่แล้ว โดยเหลือเพียง 115,500 เฮกเตอร์ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว เป็นสัญญาณว่า ต่อให้สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้ตามเป้าหมายภายในปี 2573 การตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซียยังคงเดินหน้าต่อไป.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS