ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งานประชุม COP26 ว่าด้วยเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ในปีนี้ เต็มไปด้วยสีสันจากการอภิปราย โต้แย้งและถกเถียงของเหล่าผู้นำประเทศต่าง ๆ เรียกว่า “ดราม่า” กันได้เป็นระยะ ๆ 

และความ “ดราม่า” นี้ก็ไปปรากฏบนสื่อที่เน้นความดราม่าตัวจริงอย่างละครเวทีด้วย ในประเด็นว่าจะทำอย่างไร ให้งานโปรดักชันการผลิตละครเวทีซึ่งกำลังจะทยอยเปิดการแสดงหลังคลายมาตรการล็อคดาวน์ มีส่วนในการทำร้ายสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้น้อยที่สุด

โรงละครแห่งชาติที่ลอนดอนเป็นหนึ่งในโรงละคร 50 แห่งของประเทศสหราชอาณาจักรที่ปฏิบัติตามคู่มือการผลิตละครเวทีสีเขียว “Theater Green Book” ซึ่งว่าด้วยกระบวนการผลิตงานละครเวทีที่คำนึงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ แนวทางกำจัดวัสดุหลายพันตันที่ใช้ในการสร้างฉากบนเวทีหลังจากรื้อถอน การใช้เครื่องแต่งกายซ้ำ และแนวทางกำจัดขยะต่าง ๆ 

นั่นคือที่มาของไอเดียละครเวทีเรื่องใหม่ “Trouble in Mind” ละครแนวเสียดสีสังคมซึ่งกำลังจะเปิดการแสดงในเดือนหน้า ความโดดเด่นของละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้มีอยู่แค่เนื้อหาและนักแสดง แต่รวมถึงงานผลิตทั้งหมดที่จะเน้นการใช้วัสดุที่นำไปใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 90% ของวัสดุทั้งหมดที่ใช้งาน

พอล แฮนด์ลีย์ หัวหน้าแผนกงานโปรดักชันของละครเวทีเรื่องนี้เล่าว่า ความท้าทายอยู่ที่การจูงใจผู้ร่วมงานและผู้ชม โดยเฉพาะฝ่ายหลังที่จะต้องจ่ายค่าบัตรเข้าชมในราคาสูง ให้ยอมรับและเข้าใจว่าการผลิตงานโดยคำนึงถึงการก่อมลพิษให้น้อยที่สุด ย่อมต้องมีผลกระทบในแง่ของศิลปะ เช่น ฉากอาจจะสวยน้อยลงหรืออลังการน้อยลง แต่พอลก็ย้ำว่า “ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์น้อยลง”

ฉากหนึ่งในละครเวทีเรื่อง ‘Paradise’ ซึ่งเน้นงานโปรดักชันในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติตามคู่มือ Theatre Green Book โดยเปิดแสดงที่โรงละครแห่งชาติ กรุงลอนดอน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แพทริก ดิลลอน สถาปนิกออกแบบฉากละครเวทีที่มีชื่อของอังกฤษและเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ บอกว่าไอเดียของคู่มือTheater Green Book นั้นมาจากคุยกันผ่าน Zoom ของคนในวงการ ระหว่างช่วงล็อคดาวน์ และขณะนี้กำลังได้รับความสนใจจากหลายประเทศ

แต่สำหรับละครเวทีที่มีขนาดโปรดักชันเล็กกว่า เงินทุนน้อยกว่า แนวคิดว่าด้วย “ความยั่งยืนของธรรมชาติ” อาจเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยและประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่าผู้ผลิตละครเวทีรายใหญ่ เพราะการประหยัดต้นทุนหมายถึงการนำของมาใช้ซ้ำ สร้างสิ่งใหม่จากวัสดุเดิมหรือวัสดุเหลือใช้

ในเขตแฮ็คนี่ย์ของกรุงลอนดอน โรงละครอาร์โคล่าได้ตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี 2550 ว่าจะเป็นโรงละครแห่งแรกของโลกที่เน้นความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการก่อมลพิษที่มีการชดเชยจนได้สมดุล โรงละครนี้ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา มีระบบทำความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะและวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ 

ถึงแม้ว่าตอนนี้โรงละครจะยังไม่บรรลุเป้าหมายค่าคาร์บอนเป็นศูนย์ แต่ เบน ทอดด์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของโรงละครก็บอกว่าความพยายามของพวกเขาได้สื่อสารที่มีนัยสำคัญออกไปแล้ว ผู้มาชมละครต้องการจินตนาการถึงอนาคตและทางเลือกใหม่ ๆ ซึ่งการใช้ศิลปะเพื่อแสดงให้เห็น หรือสาธิตว่าการผลิตงานเพื่อความยั่งยืนของธรรมชาตินั้นทำได้จริง เป็นเครื่องมือโน้มน้าวใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

มินตี้ โดนัลด์ อาจารย์แผนกการแสดงศิลปะร่วมสมัยแห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ พอใจที่จะตีความแนวคิด “Eco-theater” หรือละครเวทีเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติได้อย่างเจ็บแสบในแบบของเธอ โดยกล่าวว่าเราจำเป็นต้องเลิกใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เพื่อจะได้มองสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์มนุษย์ว่าเป็นผู้อยู่ร่วมกัน หรือเป็นเพื่อนนักแสดงที่อยู่บนเวทีเเดียวกัน

“แนวคิดนี้ (Eco-theatre) มีเจตนาที่จะท้าทายแนวคิดที่มองว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่าและเป็นข้อยกเว้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าคือสาเหตุเริ่มแรกของสภาวะวิกฤตทางภูมิอากาศของโลกใช่หรือไม่” โดนัลด์ให้ความเห็น และเพื่อแสดงจุดยืนของเธอ โดนัลด์จะเดินไปไหนมาไหนในเมืองโดยแบกก้อนหินจากเหมืองซึ่งเคยนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในกลาสโกว์ไปด้วย เพื่อเป็นการรำลึกถึงความเชื่อมโยงของมนุษย์กับโลกนี้

ส่วนนักศึกษาที่เป็นลูกศิษย์ของเธอและคนรุ่นใหม่อีกหลายคน การจัดให้สภาพภูมิอากาศเป็นศูนย์กลางที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามที่ซินจ์ ลูรี่ นักศึกษาวัย 23 ปีจากวิทยาลัยทรินิตี้ กรุงดับลินและผู้กำกับละครเวทีกล่าวไว้

“เรากำลังทำงานละครเวทีในช่วงเวลาแห่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถ้าเราอยากทำงานนี้ต่อไป เราก็ต้องทำการปฏิรูป” 

เครดิตภาพ : Reuters