วันที่ 12 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อส่งเรื่องให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยสร้างไทย และเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยสร้างไทย และกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรา 15(11) ที่ว่าด้วยจริยธรรมของพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งเทียบเท่า ส.ส. และกระทำผิดมาตรา 45 ฝ่าฝืน ก่อกวนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้กับพี่น้องประชาชนในสถานการณ์อย่างนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92(3)(4) จากกรณีการให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลเป็นฆาตกร วันนี้ตนจึงได้มายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง จากกรณีการกระทำของคุณหญิงสุดารัตน์ ที่แถลงภาระกิจนโยบาย 9 ข้อของพรรค ซึ่ง 1 ใน 9 ข้อเรียกร้องรวบรวมรายชื่อได้กว่า 1 แสนรายชื่อแล้วเพื่อที่จะฟ้องว่ารัฐบาลเป็นฆาตกร ทั้งที่ประชาชนที่ไปรักษาพยาบาลอยู่ที่ไหนก็ตาม หรือขณะนี้ถ้ารักษาอยู่ที่บ้าน หรืออยู่ในกระบวนการทางสาธารณสุขก็จะให้การดูแลให้ยา ให้อาหาร 3 มื้อ ให้กับพี่น้องประชาชน ถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ทอดทิ้งประชาชนหรือเป็นฆาตกรตรงไหน จึงเป็นที่มายื่นเรื่องต่อ กกต.วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของคุณหญิงสุดารัตน์ ฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 45 กรณีที่พรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือก่อกวนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ กกต.ส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่อไป
นายสนธิญา กล่าวอีกว่า ขอกราบเรียนถามไปถึงคุณหญิงสุดารัตน์ หากท่านจำได้ ในปี พ.ศ.2547 ในสมัยที่ พณฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่มีการชุมนุมของพี่น้องมุสลิม และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือมีการจับผู้ชุมนุมกว่า 1,200 คน มีผู้เสียชีวิต 84 คน และมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ การที่ตนยกตัวอย่างนี้เพื่อจะเรียนถามคุณหญิงสุดารัตน์ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2547 ซึ่งท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและร่วม ครม.อยู่ในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ด้วยนั้น เป็นฆาตกรมั้ย หรือนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนเสียชีวิตพันกว่าคน ได้รับการต่อต้านจากทั่วโลก สิ่งเหล่านั้น การกระทำเหล่านั้นเป็นรัฐบาลฆาตกรหรือไม่ และหากเทียบอายุความขณะนี้ก็ยังไม่ถึง 20 ปี ขณะที่สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินการมากับคณะกรรมการต่างๆ ทั้งแพทย์ ปลัดกระทรวง เลขาฯ สมช. ฯลฯ ที่รวมกันเรียกว่า ศปก.ศบค.ซึ่งแต่งตั้งบรูณาการคณะกรรมการชุดนี้มาตั้งแต่ปี 2563 ออกมาเป็นนโยบายต่างๆ จนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าหากจะว่ารัฐบาลนี้เป็นฆาตกร ก็ขอถามว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ติดโรคในปัจจุบันนี้ ถามว่าคัดกรองโรคฟรีหรือไม่ เข้ารักษาพยาบาลฟรีหรือไม่ พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้ทำงานจากสภาวะฉุกเฉินหรือล็อกดาวน์อะไร รัฐบาลก็มีนโยบายการเยียวยาช่วยเหลือทดแทน
“สิ่งหนึ่งที่จะฝากไปยังพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองไหนก็ตาม หากไปดูบริบท พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 15(11) ที่ว่าจริยธรรมของพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองเทียบเท่ากับจริยธรรมของ ส.ส. เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูด สิ่งที่กระทำนั้น ผมกำลังประมวลไม่ว่าพรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล ว่าทุกคำขัดต่อจริยธรรม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา15(11) หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะนำเรื่องไปร้องต่อ ป.ป.ช.ซ้ำอีก เพราะขณะนี้ผมเรียกร้องด้วยความจริงใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่น่าที่จะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น โปรดปล่อยให้สถานการณ์ตรงนี้สงบไป พี่น้องประชาชนเข้าสู่สถานการณ์เยียวยาดูแลตัวเองว่าว่าที่ไหนก็ตามเพื่อให้สถานการณ์สงบขึ้น อีก 15 วัน หรือ 1 เดือน ค่อยมาว่ากันใหม่ทางการเมืองก็ไม่สาย” นายสนธิญา กล่าว