นายนูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐคาซัคสถาน ในฐานะผู้ก่อตั้ง CICA (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia) พยายามทุ่มเทพัฒนา CICA ขึ้นเพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์

โดยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์การเมืองระดับโลกในยูเรเชียและยุโรปตะวันออก ความขัดแย้งทั้งที่มีอยู่เดิมและที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างรัฐต่าง ๆ ตลอดจนความท้าทายและภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงอาชญากรรม การแยกตัว ความสุดโต่งทางศาสนา การก่อการร้าย การค้ายาและค้ามนุษย์ การมีกลไกที่เหมาะสมเพื่อตอบโต้และรักษาความมั่นคงในระดับภูมิภาคจึงนับว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในการพัฒนาภายในสำหรับแต่ละประเทศ

ในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพและความสมานสามัคคีท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ นายนูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐคาซัคสถาน ได้ริเริ่มการเสริมสร้างหลักการใช้นโยบายต่างประเทศทางการทูตแบบหลายทิศทางและพหุภาคี โดยท่านได้ผลักดันการริเริ่มระดับนานาชาติจำนวนมากโดยมีเป้าประสงค์ในการรักษาสันติภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก็คือหนึ่งในการริเริ่มดังกล่าว

มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA) มุ่งสร้างระบบรักษาความมั่นคงในเอเชีย ซึ่งประเทศสมาชิกทั้งหมดจะได้รับการปกป้องและรับรองความมั่นคงภายใต้มาตรการทางกฎหมายนานาชาติแบบสมบูรณ์ที่มีเป้าประสงค์เพื่อลดระดับการคุกคามทางการทหารที่อาจเกิดขึ้นในเอเชีย โดยเอกสารเป็นทางการซึ่งประกาศใช้เป็นฉบับแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายน 1999 เป็นไปเพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่จะตามมาคือ Declaration of Principles Governing Relations ระหว่างประเทศสมาชิก ในเวลาต่อมาแถลงการณ์นี้ได้รับการยืนยันการยึดมั่นในวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ

เป็นเวลากว่ายี่สิบปีนับตั้งแต่การก่อตั้ง CICA ที่หน่วยงานได้สร้างจุดยืนอันทรงเกียรติในโครงสร้างความมั่นคงของกลุ่มเอเชียทั้งหมด เคียงบ่าเคียงไหล่องค์กรระดับภูมิภาคอื่น ๆ โดย CICA ได้กลายเป็นที่ประชุมนานาชาติอันทรงประสิทธิภาพในการสร้างความมั่นใจและความร่วมมือที่มุ่งนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพในเอเชียในปัจจุบัน การประชุมอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกองเลขาธิการ ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ EXPO อันทันสมัยในเมืองนูร์ซุลตัน

ปี 2020 ได้จารึกไว้ว่าคาซัคสถานได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานของ CICA อีกวาระหนึ่ง โดยกองเลขาธิการได้สนับสนุนเป้าหมายของการดำรงตำแหน่งผ่านงานด้านการวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและการผลักดันการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ

ในฐานะผู้ริเริ่มกระบวนการทำงาน CICA ประเทศคาซัคสถานได้เสนอแนะให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้การประชุมยกระดับฐานะสู่การเป็นองค์กรนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ระดับใหม่ของการร่วมมือ การทูตเชิงป้องกันและการป้องกันความขัดแย้งและในปีนี้ เรือเอก ชัชวรรณ สาครสินธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนูร์-ซุลตัน ก็ได้พบปะกับ Mr. Kairat Sarybay ผู้อำนวยการบริหารของสำนักเลขาธิการ CICA เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่าง CICA กับประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ตลอดจนงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

เอเชียยังคงแบกภาระเกี่ยวกับข้อขัดแย้งอันยาวนานและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ปัญหาระดับโลกในยุคสมัยของเรายังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งรวมถึงการก่อการร้ายและคตินิยมสุดโต่ง การลักลอบค้ายาและค้ามนุษย์ การอพยพอย่างผิดกฎหมาย การขาดความยำเกรงในศาสนาและชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ตลอดจนภัยธรรมชาติต่างๆ ตลอดระยะเวลาหลายปี CICA ได้ปูพื้นฐานเชิงปฏิวัติที่สำคัญ นับตั้งแต่การน้อมนำแนวคิดไปสู่การผลักดันให้สำเร็จ ในปัจจุบัน การประชุมจึงควรมีแพลตฟอร์มเพื่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่าง ๆ ในเอเชียในประเด็นด้านความมั่นคงต่าง ๆ และในตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ชาวเอเชียจะกำหนดทิศทางให้แก่อนาคตและสร้างวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับความมั่นคงและความร่วมมือในระดับนานาชาติ.