สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ว่าดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต กล่าวเมื่อวันพุธ ระหว่างเข้าร่วมงานเสวนาผ่านระบบออนไลน์ กับสื่อมวลชนในญี่ปุ่น ว่า โดยส่วนตัวมีความคุ้นเคยกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่สมัยประธานเหมา เจ๋อตง แนวคิดหลายอย่างของคณะผู้ปกครองนั้นถือว่าดีเลยทีเดียว แต่มีหลายครั้งที่นโยบายเหล่านั้น “เข้มงวดและสุดโต่งเกินไป”


เกี่ยวกับสถานการณ์ในเขตปกครองตนเองทิเบตและซินเจียงอุยกูร์ ดาไลลามะกล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ทั้งสองแห่งดำเนินชีวิตท่ามกลางสภาพสังคมและวัฒนธรรม “ที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง” อย่างไรก็ตาม ยิ่งคณะผู้ปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง “มีทัศนคติที่แคบมากเท่าไหร่” ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมที่แตกต่าง “ยิ่งน้อยลงเท่านั้น” แล้วทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า จีนไม่ได้มีแต่ชาวฮั่น แต่ชาวฮั่นใช้อำนาจควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในประเทศแห่งนี้ “มากเกินไป”


เมื่อมีการซักถามต่อในเรื่องของไต้หวัน ท่ามกลางบรรยากาศข้ามช่องแคบในเวลานี้ที่ตึงเครียดอย่างหนัก ดาไลลามะให้ความเห็นว่า ไต้หวันรับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมหลายด้านมาจากแผ่นดินใหญ่ “อย่างเต็มเปี่ยม” แต่สถานการณ์ตอนนี้ “เป็นเรื่องการเมืองมากเกินไป” ทั้งที่ต่างฝ่ายสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ในหลายด้าน


ทั้งนี้ ดาไล ลามะ ลี้ภัยอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ในรัฐหิมาจัลประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย ตั้งแต่ปี 2502 หลังเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลปักกิ่งเรียกว่า “การปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติ” เมื่อปี 2494 หรือเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ขณะที่จวบจนถึงปัจจุบัน จีนยังคงประณาม “เทนซิน เกียตโซ” ซึ่งเป็นชื่อจริงของดาไล ลามะ องค์ปัจจุบัน และเป็นองค์ที่ 14 “เป็นผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน” และยังคงยืนกรานปฏิเสธ “ข้อเสนอทางสายกลาง” ของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่เรียกร้อง “การปกครองตนเองอย่างแท้จริง” ซึ่งไม่ใช่ “การประกาศเอกราช”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES