สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ว่า ผลการศึกษาโดยศูนย์ศึกษาสภาพแนวปะการังของรัฐบาลออสเตรเลีย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2541 มีเพียง 2% ของแนวปะการังเกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ที่สามาถรอดชีวิตจากภาวะฟอกขาว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง


อย่างไรก็ตาม หากอุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกสามารถอยู่ภายใต้การควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ให้สามารถเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามแนวทางของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) จริงอยู่ที่โครงสร้างของเกรต แบร์ริเออร์ รีฟอาจเปลี่ยนแปลง แต่ในภาพรวมถือว่า แนวปะการังแห่งนี้จะยังสามารถปรับตัวเองให้เติบโต และอยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้


ทั้งนี้ เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ แนวปะการังขนาดใหญ่และมีความยาวที่สุดของโลก ทอดยาวเป็นระยะทางประมาณ 2,300 กิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก ) ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2524 ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ( ไอยูซีเอ็น ) เผยแพร่รายงาน เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ว่าภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก “กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด” ของมรดกโลกทางธรรมชาติ


อนึ่ง ที่ประชุมยูเนสโกมีมติเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา “ยังไม่ลดระดับ” แนวปะการังแห่งนี้ ให้เข้าสู่ทำเนียบมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า เป็นผลจากการ “วิ่งเต้นอย่างหนัก” ของรัฐบาลออสเตรเลีย.

เครดิตภาพ : AP