สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ว่า นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาเหม็ด อาลี ผู้นำเอธิโอเปีย เมื่อกลางสัปดาห์นี้ โดยกูเตร์เรสเสนอการให้ยูเอ็นเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างรัฐบาลเอธิโอเปียกับแนวร่วมปลดปล่อยชาวทิเกรย์ ( ทีพีแอลเอฟ )


ในเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา ผู้นำเคนยา เรียกร้องคู่กรณีทุกฝ่ายในเอธิโอเปีย “วางอาวุธทันที” แล้วหัวหน้ามาเจรจากัน ขณะที่ นายเจฟฟรีย์ เฟลต์แมน ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ เดินทางถึงกรุงแอดดิสอาบาบาแล้ว แต่ยังไม่มีการยืนยันจากรัฐบาลว่า เฟลต์แมนจะได้เข้าพบผู้นำเอธิโอเปียหรือไม่


ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) มีกำหนดหารือเป็นการฉุกเฉินเกี่ยวกับสถานการณ์ในทิเกรย์ ในวันศุกร์ที่ 5 พ.ย. นี้ตามเวลาท้องถิ่น ตามการเสนอญัตติโดยเคนยา ไนเจอร์ ตูนิเซีย และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์

สมาชิกกองกำลังโอโรโม อยู่บนรถกระบะ แล่นไปตามถนนในเมืองเคมิสซี


อย่างไรก็ตาม ทำเนียบนายกรัฐมนตรีของเอธิโอเปียออกแถลงการณ์ว่า ทีพีแอลเอฟและแนวร่วม “ล้ำเส้น” และกองทัพกำลังเร่งเครื่องรับสมัครกำลังพลสำรอง “เพื่อการสู้รบในสมรภูมิครั้งยิ่งใหญ่” เป็นสัญญาณว่า “ยังไม่ต้องการเจรจากับฝ่ายใดทั้งสิ้น” ส่วนทีพีแอลเอฟและกองทัพปลดปล่อยโอโรโม ( โอแอลเอ ) ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญ ยังคงปักหลักอยู่ที่เมืองเคมิสซี หนึ่งในเมืองใหญ่ของภูมิภาคอัมฮารา ห่างจากกรุงแอดดิสอาบา ประมาณ 325 กิโลเมตร


ในอีกด้านหนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงแอดดิสอาบาบาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่การทูตซึ่งไม่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วน และงานคั่งค้าง สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ “ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย”

อนึ่ง การสู้รบในภูมิภาคทิเกรย์ ระหว่างทีพีแอลเอฟกับกองทัพเอธิโอเปีย ยืดเยื้อตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 5,000 ราย และเกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมขนานใหญ่ตามมา ซึ่งยูเอ็นเตือนว่า การกระทำของทั้งรัฐบาลเอธิโอเปียและทีพีแอลเอฟ เข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม”.

เครดิตภาพ : REUTERS