กองทุนสีเขียว ภายใต้กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility) ซึ่งเปิดตัวในที่ประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP26 กองทุนนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) จะเพิ่มการเข้าถึงการเงินทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในกลุ่มประเทศอาเซียน และจะสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน การคมนาคมสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค


การสนับสนุนเงินจำนวน 110 ล้านปอนด์โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร กระตุ้นให้เกิดการระดมเงินลงทุนเพิ่มเติมจากภาครัฐและภาคเอกชน และจะเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในวงกว้างของรัฐบาลต่าง ๆ และพันธมิตรในอาเซียนและที่จะกระจายงบกว่า 5,000 ล้านปอนด์ (ราว 227,000 ล้านบาท) ไปในโครงการสีเขียวต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค


การลงทุนร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ในโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาดและเชื่อถือได้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานี้ เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นเฟ้นมากยิ่งขึ้นกับประเทศพันธมิตร การลงทุนนี้จะช่วยเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ ๆ และสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร และในประเทศกำลังพัฒนารอบโลก ในขณะที่เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกอีกด้วย

นางลิซ ทรัสส์ รมว.การต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “สหราชอาณาจักรทำงานร่วมกับพันธมิตรผ่านการประชุม COP 26 และงานด้านอื่น ๆ ที่มีร่วมกันเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาด โปร่งใส เชื่อถือได้และเป็นที่ต้องการโดยเร่งด่วนรอบโลก


การร่วมลงทุนกับพันธมิตรของเราในภูมิภาคเอเชีย สร้างงานและโอกาสในสหราชอาณาจักร และช่วยให้โลกบรรลุเป้าทางด้านสภาพภูมิอากาศ และจะยังช่วยขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ผ่านการสนับสนุนข้อตกลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานระดับนานาชาติ


กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นพันธมิตรที่สำคัญ สำหรับสหราชอาณาจักรในเวทีโลก (Global Britain) และดิฉันรอที่จะได้สานสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และพาเราก้าวไปสู่ยุคใหม่ที่ห้าวหาญ”


นางลิซ ทรัสส์ เน้นย้ำในเรื่องนี้และความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ที่จะนำมาใช้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนความมุ่งมั่นด้านสภาพภูมิอากาศ ในระหว่างการร่วมกิจกรรมและการประชุมกับพันธมิตรหลัก ณ การประชุม COP 26 ในกลาสโกว์ นอกจากนี้ นางลิซ ทรัสส์ ยังกล่าวชัดเจนว่า เราต้องระดมเงินลงทุนจากภาคเอกชนผ่านตลาดการเงิน และเชื่อมั่นว่าการค้า การลงทุนและตลาดเปิดเสรีไม่ใช่ตัวปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งของทางออก ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


การพัฒนาด้านเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผู้คนอีกกว่า 5 ล้านคนที่กำลังเสี่ยงจะประสบกับสภาวะยากจน จากวิกฤติโควิด-19 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก การเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวพันซับซ้อนหลายส่วนนี้


สหราชอาณาจักรมุ่งมั่นสนับสนุนกิจการสีเขียว ที่มีศักยภาพที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูสีเขียวในระบบขนส่งของเมือง พลังงานและน้ำหมุนเวียน และความสะอาด เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ.

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

เครดิตภาพ : AP