สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่า รัฐบาลของมากกว่า 190 ประเทศ รวมถึง โปแลนด์ แคนาดา ชิลี และเวียดนาม และยังมีองค์กรระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง ร่วมกันให้คำมั่นต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ครั้งที่ 26 หรือ “คอป 26” เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ยุติการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน และยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่


ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ให้คำมั่นสิ้นสุดการใช้พลังงานจากถ่านหิน ภายในปี 2573 ส่วนกลุ่มประเทศฐานะปานกลางลงไปจนถึงยากจน ให้คำมั่นยุติการใช้พลังงานจากถ่านหิน ภายในปี 2583 ทว่าจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใช้งานถ่านหินมากเป็นอันดับต้นของโลก ไม่ได้ร่วมลงนามครั้งนี้

กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ถ่านหิน รวมตัวประท้วงเรียกร้องยุติการใช้พลังงานถ่านหิน ที่หน้าศูนย์การประชุม ในเมืองกลาสโกว์ สถานที่จัดงานประชุม “คอป 26”


แม้นานาประเทศร่วมกันเพิ่มความพยายามลดการใช้พลังงานถ่านหินอย่างต่อเนื่อง แต่สถิติเมื่อปี 2562 ระบุว่า 37% ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้กันบนโลก มาจากแหล่งพลังงานถ่านหิน ขณะที่ นางศรี มุลยานี อินทราวาตี รมว.กระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตก๊าซคาร์บอนรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก และเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังคงยึดมั่นตามแผนยุติการใช้พลังงานถ่านหินอย่างเบ็ดเสร็จ ภายในปี 2599


อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียสามารถยุติการใช้งานถ่านหินได้อย่างเบ็ดเสร็จ ภายในปี 2583 หากได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเต็มที่ จากองค์กรระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม.

เครดิตภาพ : AP