แม่น้ำน่าน ที่รับน้ำจากจังหวัดตอนบนทั้ง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และ ผ่านจังหวัดพิจิตร จนไปสุดที่ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนแม่น้ำยม ที่รับน้ำจาก จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ผ่านจังหวัดพิจิตร ก่อนที่จะลงไปยังจังหวัดนครสวรรค์ รวมน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัญหา น้ำท่วมในแม่น้ำน่าน ที่มีเขื่อนใหญ่ เก็บน้ำ และควบคุมการระบายน้ำ จึงไม่ค่อยประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่เหมือนกับแม่น้ำยม ที่ไม่มีเขื่อนหลักในการกักเก็บน้ำ จึงทำให้ในช่วงที่ฝนตกหนัก ปริมาณน้ำสะสมมาก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง และท่วมขังยาวนานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ชาวบ้านจึงได้รับผลวิกฤติจากน้ำท่วมกระทบประจำทุกปี และ ยาวนาน ถึงแม้วิกฤติน้ำท่วมขัง ยังพบการแก้วิกฤติของชาวบ้านเพื่อหารายได้ โดยการดำเนินตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยการออกหาสัตว์น้ำ จากน้ำที่ท่วมขัง มาสร้างงานสร้างรายได้ ชดเชยจากการที่รอทำการเกษตรหลังน้ำลด โดยการออกจับปลา หลากหลายชนิด ที่มากับน้ำท่วม ออกจำหน่ายสร้างรายได้ โดยชาวบ้านในพื้นที่ ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เป็นอีกชาวบ้านอีกกลุ่ม ที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากน้ำจำนวนมากที่ยังท่วมขังในพื้นที่นาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว ที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำค้างทุ่ง ออกจับสัตว์น้ำธรรมชาติซึ่งมีทั้ง ปลา หลากหลายชนิด เช่น เพื่อนำไปรับประทานในครัวเรือนและเปิดจำหน่ายข้างถนนสร้างรายได้ จะใช้วิธีตั้งแผงจำหน่ายริมทางถนนสาย พิจิตร-หนองหัวปลวก ซึ่งเป็นถนนสายหลักจาก จังหวัดพิจิตร เชื่อมกับถนนสายเอเซีย 117 พิษณุโลก-นครสวรรค์ ปลาที่จำหน่ายจะมีทั้งปลาสด และปลาแดดเดียว จำหน่ายราคาตามชนิดของปลาตั้งแต่กิโลกรัมละ 80 – 200 บาท สร้างรายได้งามวันละไม่ต่ำกว่า 2000 – 3,000 บาท ต่อวัน

นางไสว แก้ววิเชียร ประชาชนในพื้นที่หมู่ 8 ตำบลวังจิก กล่าวว่า ปลาที่จำหน่ายจะมีหลากหลายชนิดทั้งปลาช่อน ปลาแขยง ปลาหมอ ซึ่งจะมีทั้งปลาแดดเดียว และปลาสด ปลาที่ได้จากการออกหา จากการดักข่าย ดักลอบ ปักเบ็ด และบางส่วนรับซื้อจากญาติๆ ในหมู่บ้านที่ออกหาปลาจากนาข้าวที่ยังไม่สามารถทำนาจากน้ำที่ท่วมขัง ซึ่งปลาที่ได้มาวางจำหน่าย จะมีชาวบ้านในพื้นที่ ที่ออกหาปลา จากน้ำท่วม จากนั้น มาทำการหมักเกลือตามสูตร และออกตากให้แห้ง ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมก็จะเป็น ปลากระดี่วงกลม ที่นำมาหมักเกลือ และล้างทำความสะอาด มาวางให้เป็นรูปวงกลม เพื่อง่ายต่อการทอดรับประทานแบบได้ทั้งตัว ขายเพียงวงละ 10 บาท ขายได้วันละกว่า 200 วง บางวัน ยังผลิตไม่ทันลูกค้า ในแต่ละวันจะสร้างรายได้ดีวันละ ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท นับว่าเป็นรายได้มากกว่าการทำนาที่ปีน้ำประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จึงอยากให้น้ำยังขังอีกซัก 1 เดือนเพื่อจะมีรายได้จากการจำหน่ายปลา

ทางด้าน นายสมยศ เอมใจ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโพธิ์ประทับช้าง กล่าวว่า การทำประมงพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิตของประชาชนชาวพิจิตร โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นที่ในเขตลุ่มแม่น้ำทั้ง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ที่จะทำประมงพื้นบ้านในฤดูน้ำหลากซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ออกจับสัตว์น้ำซึ่งมีอยู่จำนวนมาก จำหน่ายสร้างรายได้จากวิกฤติน้ำท่วมขัง สร้างรายได้ ซึ่งทางเทศบาลตำบลโพธิ์ประทับช้าง ต่างรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่สามารถปรับตัวเข้ากับน้ำท่วม โดยการจับปลามาวางจำหน่ายในทางสัญจร ไม่ต่ำกว่า 10 ร้านค้า เพื่อง่ายต่อการซื้อขายของประชาชนที่ผ่านไปผ่านมา ซึ่งทางเทศบาลจึงได้มีส่วนร่วมในการช่วยประชาสัมพันธ์ และการควบคุมราคา และคุณภาพ ความสะอาด และความเป็นระเบียบ ของร้านจำหน่ายปลาที่จำหน่ายข้างถนน ไม่ให้กีดขวางเส้นทางจราจร ถือว่าเป็นความร่วมมืออีกทางหนึ่ง ในการช่วยสร้างให้ประชาชนมีรายได้ ในช่วงวิกฤติน้ำท่วม

ผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อได้ ที่ร้านชั่วคราวริมทางถนนสาย พิจิตร-หนองหัวปลวก ซึ่งเป็นถนนสายหลักจาก จังหวัดพิจิตร เชื่อมกับถนนสายเอเซีย 117 พิษณุโลก-นครสวรรค์ ที่บริเวณตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ปลาที่จำหน่ายจะมีทั้งปลาสด และปลาแดดเดียว จำหน่ายราคาตามชนิดของปลาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย ที่รับรองความสดจากปลาที่อยู่ตามธรรมชาติ.