สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่า ที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “จี20” ซึ่งอิตาลีเป็นเจ้าภาพในปีนี้ เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรียกร้องการดำเนินการ “ที่จริงจังและมีประสิทธิภาพ” เพื่อควบคุมวิกฤติโลกร้อน


อย่างไรก็ตาม การที่สมาชิกจี20 ซึ่งประกอบด้วย 19 ประเทศ และสหภาพยุโรป ( อียู ) มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากถึง 80% ของทั้งโลก ไม่ระบุอย่างชัดเจน เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “คาร์บอนเป็นศูนย์” หรือเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และ “ความชัดเจน” ในด้านการลดการสนับสนุนการใช้พลังงานถ่านหิน เรียกเสียงวิจารณ์และสร้างความผิดหวังให้กับหลายฝ่าย


ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวว่า การที่ความพยายามร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของจี20 ในครั้งนี้ “น่าผิดหวัง” เป็นผลจากการที่รัสเซียและจีน “ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนและเป็นการรับประกัน” ที่สอดคล้องกับความพยายามจัดการภาวะโลกร้อน ซึ่งประชาคมโลกกำลังพยายามอยู่


ขณะที่ นายกรัฐมนตรีมาริโอ ดรากี ผู้นำอิตาลี ในฐานะประธานการประชุมจี20 ประจำปีนี้ กล่าวว่า “อย่างน้อยที่สุด” สมาชิกจี20 เห็นพ้องกับ “ความจำเป็นอย่างยิ่ง” ในการร่วมกันควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จากเป้าหมายเดิมคือ 2.0 องศาเซลเซียส


ทั้งนี้ รายงานโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นอีพี ) ระบุว่า หากประชาคมโลกยังไม่สามารถร่วมกันดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้.

เครดิตภาพ : AP