วันนี้ (28 ต.ค.)ที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมกับ นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)  ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ราย และบริษัทผู้ให้บริการด้านเนื้อหา เพื่อกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้นหรือ เอสเอ็มเอส (sms) ที่มีเนื้อหาในลักษณะ หลอกลวง การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ เงินกู้ และลามกอนาจาร ที่ผิดกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปจะมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มขึ้นหากพบเอสเอ็มเอสหลอกลวงจะส่งให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายทันที นอกจากนี้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป วางหลักเกณฑ์ในการส่งเอสเอ็มเอสใหม่ คือ 1.ผู้ให้บริการเนื้อหาต้องมีระบบยืนยันตัวตนของลูกค้าที่มาซื้อ เอสเอ็มเอส ที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ 2.ข้อความในเอสเอ็มเอส และชื่อ Sender name ต้องไม่ให้ลูกค้ากำหนดเองได้ โดยอิสระแต่ต้องแจ้งผ่านผู้ให้บริการทราบก่อน 3.การกำหนด Sender name ต้องไม่มีลักษณะเป็นเลขหมายโทรศัพท์ 4.หากชื่อ Sender name ตรงกับ หรือคล้ายกับ ชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายการค้า ทางผู้ให้บริการสามารถ ขอเอกสารจากลูกค้าในการรับรอง หรือการได้รับความยินยอมให้ใช้ชื่อจากเจ้าของชื่อบริษัท หน่วยงาน ก่อน และ 5.ข้อความไม่ควรมีลิงก์ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการกระทำผิด

นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผู้ให้บริการต้องส่งรายชื่อ Sender name ให้ทาง สำนักงาน กสทช.หากทางตำรวจต้องการข้อมูล จะประสานมาทาง กสทช.ก่อนออกหมายฯ เพื่อขอข้อมูลส่งข้อความ ไปยังผู้ให้บริการ และจะมีการแจ้งให้ผู้บริการทราบเพื่อเตรียมข้อมูลให้กลับทางตำรวจโดยเร็ว สำหรับในส่วนของเอสเอ็มเอส ที่เป็นสินเชื่อเงินกู้ต่างๆ จะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งคณะทำงานตรวจสอบไวท์ลิสต์ว่าธนาคารมีการใช้ชื่ออะไรในการส่ง โดยจะให้ทำในส่วนของที่ต้องการโอทีพีก่อน เช่นการใช้บัตรเครดิตต่างๆ แต่หากเป็นการขายบริการ เช่น สินเชื่อและประกันต่างๆ จะให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกว่าจะรับเอสเอ็มเอสเหล่านี้หรือไม่ นับแต่นี้ไปมั่นใจว่าเรื่องเอสเอ็มเอสหลอกลวงจะลดลงไปได้มาก

สำหรับแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความที่ผิดกฎหมาย ในระหว่างที่รอหมายฯ จากตำรวจ จะดำเนินการระงับการส่งข้อความเอสเอ็มเอส จาก Sender name นั้นโดยเร็ว และผู้ให้บริการต้องตักเตือนลูกค้าของตนให้ทราบถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีกจะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น โดยจะมีคำสั่ง ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาต จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ตามข้อเท็จจริง สำหรับการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ นั้น ทาง บช.สอท. จะรับผิดชอบในการดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดี ส่วนกระทรวง ดีอีเอส จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ในการดำเนินการกับมิจฉาชีพด้วย.