วงการกีฬาไทย กำลังจะมีงานใหญ่อีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จะจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 วันที่ 1 พ.ย.นี้ ที่ห้องประชุมชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก เวลา 10.00 น.

โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารฯ ชุดใหม่ หลังจากที่ บอร์ดบริหารชุด “บิ๊กป้อม 1” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำงานครบเทอม 4 ปี

วิธีการเลือกตั้งใหญ่ของโอลิมปิคไทย ค่อนข้างจะแตกต่างจากการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาทั่วๆ ไป ซึ่งตามธรรมนูญข้อบังคับ พอจะสรุปรายละเอียดดังนี้

ผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด 49 คน มาจาก 1 นายกสมาคม หรือ ผู้แทนสมาคมกีฬา ที่เป็นสมาชิกสามัญ รวม 36 คน, 2 ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิสากล (ไอโอซี) 1 คน, ผู้แทนชมรมนักกีฬาโอลิมปิก 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 10 คน

ส่วนกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่จะเลือกเข้ามานั้น มีได้ไม่เกิน 25 คน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ กับ ผู้แทนชมรมนักกีฬาโอลิมปิก 1 คน จะได้เป็น “กรรมการโดยตำแหน่ง” เท่ากับว่าจะเหลือให้เลือกตั้งอีก 23 ตำแหน่ง

จากนั้น ประธานเลือกตั้งชั่วคราว จะให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสนอใครก็ได้ขึ้นมา แต่เสนอได้เพียง 1 คน (วันแมนวันโหวต) เพื่อรับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร แต่หากเกิน 23 คน จะต้องมีการลงคะแนน “แบบลับ” เพื่อเลือกผู้ที่มีคะแนนสูงสุดอันดับ 1-23 เป็นกรรมการ แต่ถ้าไม่เกิน 23 คน ก็จะถือว่าที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ให้ทั้ง 23 คน เป็นบอร์ดชุดใหม่ทันที

หลังได้ กรรมการชุดใหม่ 25 คน แล้ว ก็จะมีการประชุมนอกรอบ เพื่อจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ภายใน ซึ่งมีทั้งหมด 16 ตำแหน่ง กันอีกครั้ง ประกอบด้วย “ประธาน” 1 คน รองประธาน 8 คน “เลขาธิการ” 1 คน รองเลขาธิการ 4 คน เหรัญญิก 1 คน ผู้ช่วยเหรัญญิก 1 คน ส่วนอีก 7 คนที่เหลือ จะนั่งเป็นกรรมการ

ถามว่าการเลือกตั้งใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ หลายครั้งที่ผ่านมา มีปัญหาหรือความขัดแย้ง เพราะว่า “แบ่งเค้ก” กันไม่ลงตัวหรือไม่ ตอบได้เลยว่า “เคยมี”

ครั้งที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดและดุเดือดที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นการชิงเก้าอี้ใหญ่ระหว่าง “บิ๊กเหวียง” พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ประธานคนเก่า กับ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา

ก่อนที่ “บิ๊กอ๊อด” ผู้ท้าชิง ที่มี “บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เลขาธิการ เป็นแม่ทัพ ได้รับการชูมือให้เป็น “ประมุขบ้านอัมพวัน” สมัยแรก และดำรงตำแหน่งดังกล่าวมา 4 สมัย จนถึงปี 2559 ก่อนจะเข้าสู่ยุคของ “บิ๊กป้อม” ที่มารับไม้ต่อ

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งนั้นต้องชื่นชม ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ที่ได้รับการโหวตติดเป็นกรรมการชุดใหม่ด้วย แต่ด้วยความที่ตัวเองอยู่คนละฝั่ง และท่านเองก็มีสปิริตนักกีฬาอย่างเปี่ยมล้น สุดท้ายจึงได้ขอถอนตัวไป

จะบอกว่า “ศรีเชลียง” ผ่านการทำข่าวเลือกตั้งใหญ่ของโอลิมปิคไทยมาแล้ว 6 ครั้ง รวมเวลาก็เกือบ 25 ปี

ทุกครั้งมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่ที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือ “คนรุ่นใหม่” แทบจะไม่ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานเลย

ครั้งนี้ก็หวังว่าเหล่า “ยังเติร์ก” จะได้รับการสนับสนุนและผลักดันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกีฬาไทยไปสู่อนาคตบ้าง

แม้ว่าความจริงแล้วจะเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็ญครกขึ้นเขาก็ตาม แต่ก็อยากจะฝากเป็น “การบ้าน” ไปยัง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ว่าประมุขบ้านอัมพวันคนใหม่ พิจารณาด้วยครับ

ศรีเชลียง