สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงคาร์ทูม ประเทศซูดาน เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ว่า พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซูดาน แถลงว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น “มีความจำเป็น” และกองทัพ “ไม่มีทางเลือกอื่น” ในการสกัดกั้นความพยายามปลุกปั่นของนักการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งต้องการให้เกิดกระแสต่อต้านกองทัพในหมู่ประชาชน ที่จะลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง และความเคลื่อนไหวของกองทัพในครั้งนี้ “ไม่ควรถูกเรียกว่าเป็นการรัฐประหาร”

Al Jazeera English


ทั้งนี้ พล.อ.บูร์ฮานยืนยันว่า กองทัพพร้อมถ่ายโอำนาจทั้งหมดให้แก่รัฐบาลพลเรือน ผ่านการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ “ภายในเดือน ก.ค. 2566” และกล่าวถึงนายอับดัลลา ฮัมด็อก อดีตนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่าน จากการรัฐประหารเมื่อปี 2562 ว่าจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพในช่วงเกิดการยึดอำนาจ โดยอยู่ที่บ้านของ พล.อ.บูร์ฮาน “เพื่อความปลอดภัย” ของตัวฮัมด็อกเอง


หัวหน้าคณะรัฐประหารของซูดานกล่าวต่อไปว่า ฮัมด็อกได้รับการปล่อยตัวแล้ว เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา และการที่ฮัมด็อกยังคงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย “จึงต้องมีการคุ้มกันอย่างแน่นหนา” รอบบ้านพัก ในกรุงคาร์ทูม อย่างไรก็ตาม พล.อ.บูร์ฮานปฏิเสธกล่าวถึงสถานการณ์ประท้วงที่ยังคงเกิดขึ้น และการปราบปรามของทหาร ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 140 คน

ผู้ประท้วงต่อต้านกองทัพเผายางรถยนต์ บนถนนในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน


ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ แสดงความยินดีที่ฮัมด็อกได้รับการปล่อยตัว และเรียกร้องคณะรัฐประหารของซูดานมอบอิสรภาพให้กับนักการเมืองคนอื่น ซึ่งมีรายงานว่า ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ด้วย และในระหว่างนี้ รัฐบาลวอชิงตันระงับกองทุนมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,275 ล้านบาท) ที่สนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลตั้งแต่ปี 2562


สำหรับการรัฐประการครั้งนี้เกิดขึ้นประมาณ 2 ปีเท่านั้น นับตั้งแต่กองทัพซูดานโค่นอำนาจประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ซึ่งปกครองประเทศต่อเนื่องยาวนาน 30 ปี ซึ่งหลังจากนั้นมีการแต่งตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาแทน แม้มีอดีตสมาชิกจากคณะรัฐประหารเข้าร่วมด้วยหลายคน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลไม่ค่อยดีนัก และเคยมีรายงานความพยายามรัฐประหารมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาด้วย.

เครดิตภพ : AP