ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนทุ่งโครงการโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี และประชาชนทุ่งเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา ทำจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ผ่านทางนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาตไทยพัฒนา กรณีที่กรมชลประทานได้กำหนดให้ทุ่งเจ้าเจ็ดและทุ่งโครงการส่งนำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา เป็น 2 ทุ่งใน 12 พื้นที่ลุ่มต่ำ (แก้มลิงลุ่มเจ้าพระยา) นั้น ปรากฏว่าในปี 2564 ได้มีการจัดจราจรทางน้ำ ของกรมชลประทาน ระบายน้ำเข้ามาในพื้นทั้ง 2 ทุ่ง และในแม่น้ำท่าจีน จำนวนมากมายมหาศาล เป็นสาเหตุทำให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงครั้งใหญ่ ใกล้เคียงหรือบางพื้นที่ปริมาณน้ำมากกว่า ปี 2554 นำความเดือดร้อนให้พี่น้องชาวเกษตรกร พืชสวน ไร่นา บ่อปลา บ่อกุ้ง บ้านเรือนประชาชนวอดวายเสียหาย บางหลังไม่สามารถอยู่อาศัยได้

โดยตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า จะไม่ทนให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต จะไม่รับกรรมแทนพื้นที่ลุ่มน้ำถัดไป รวมทั้ง พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมจัดจราจรน้ำหรือระบายน้ำให้ผ่านไป ปล่อยให้พื้นที่ทั้ง 2 ทุ่งนี้ เป็นเสมือนด่านสุดท้ายที่ระบายน้ำมาเก็บไว้ แล้วก็ไปเอาหน้ากันว่า สามารถบริหารจัดการน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพมหานครได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเป็น 2 ทุ่งทิ้งน้ำ ต้องรับกรรมทั้งขึ้นทั้งล่อง คือ ฤดูแล้งไม่มีน้ำทำนา พื้นที่ตอนบนได้ใช้น้ำก่อน เหลือถึงปล่อยทิ้งมาให้ ทั้งๆ ที่ควรจะได้น้ำทำนาก่อน ในฤดูฝน น้ำมาก เช่นปีนี้ ระบายมามากมายกลายเป็นอุทกภัย พืชสวน ไร่นา บ่อปลา บ่อกุ้ง บ้านเรือน ชำรุดเสียหาย ประกอบอาชีพไม่ได้ ไม่มีรายได้นานหลายเดือน ถนนหนทาง พังชำรุดเสียหาย หลังน้ำลด ไม่ได้รับการจัดสรร งบประมาณปรับปรุงซ่อมแซม

บางพื้นที่ใน 2 ของทุ่งดังกล่าว มีคันป้องกันไม่ให้น้ำเข้า หรือไม่มีการระบายน้ำเข้าไปในบางตำบล เกิดความไม่เสมอภาค เกิดการขัดแย้งระหว่างชาวบ้านเหนือน้ำกับใต้น้ำ บางแห่งถึงกับทำร้ายกันก็มี สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นบ้านเรือน ชุมชน โรงงาน การเกษตรที่มีคันดินป้องกันน้ำท่วม บางท้องถิ่นใช้งบประมาณทำคันดินล้อมรอบไว้ทั้งตำบล จึงทำให้พื้นที่รับน้ำน้อยลงด้วย เช่น ทุ่งเจ้าเจ็ด กำหนดรับน้ำ 45 ล้าน ลบ.ม. โครงการฯ โพธิ์พระยา 147 ลบ.ม. ปัจจุบัน มีพื้นที่ที่เหลือสามารถรับน้ำได้จริงตามที่กำหนดหรือไม่

ข้อเสนอในกรณีที่จะให้พื้นที่ทั้ง 2 ทุ่งลุ่มต่ำรับน้ำต่อไป ต้องยึดหลักการว่า ทั้ง 2 ทุ่งยอมเสียสละพื้นที่ เสียสละอาชีพ เสียสละโอกาส ทำมาหากิน เพื่อช่วยหลายพื้นที่รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร จึงควรได้รับสิทธิการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ กรมชลประทาน ต้องระบายน้ำให้ทั้ง 2 ทุ่งลุ่มน้ำอย่างเพียงพอในฤดูแล้ง สำหรับทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ต้องสำรวจพื้นที่ทั้ง 2 ทุ่งลุ่มน้ำ ว่าในปัจจุบันเหลือพื้นที่จริงที่สามารถรับปริมาณน้ำได้เท่าไร และต้องระบายน้ำเข้ามาตามศักยภาพของพื้นที่ ต้องจัดจราจรน้ำอย่างเสมอภาค เป็นธรรม ในฤดูฝน น้ำมาก ให้สามารถกระจายน้ำไปได้ทั้งตอนเหนือและตอนใต้ รวมทั้งทั่วบริเวณของพื้นที่ทั้ง 2 ทุ่งลุ่มน้ำ

กรณีมีการระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ทั้ง 2 ทุ่งล่มน้ำ จนเกิดความเสียหาย ต้องชดเชยให้ไม่ต่ำกว่าราคาผลผลิตการเกษตรที่สูญเสียไป รวมทั้งบ่อกุ้ง บ่อปลาที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ประกอบการจริง ต้องมีระบบประกันภัยความเสียหายให้กับบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ที่ทั้ง 2 ลุ่มน้ำ ซึ่งในปีนี้ (2564) ต้องมีการชดเชยบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ประสบอุทกภัย อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อหลังคาเรือน สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ น้ำมัน เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าตามประตูน้ำต่างๆ เครื่องผลักดันน้ำ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ ต้องพร้อมสำหรับปฏิบัติงานเสมอ ต้องบูรณาการการจัดจราจรน้ำร่วมกันทุกโครงการฯ ให้มีระบบการพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะระบายมาเพิ่มเติม

ทางด้าน กระทรวงมหาดไทย และ ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี จัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซมถนนทุกเส้นทางที่ชำรุดเสียหาย เนื่องจากอุกภัยครั้งนี้จัดสรรงบประมาณชดเชยให้บ้านเรือนทุกหลังที่เสียหาย เนื่องจากน้ำท่วมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมในการดูแลช่วยเหลือ เช่น ห้องสุขาลอยน้ำ เรือ เต็นท์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องกล้าตัดสินใจ ภายใต้ความมั่นใจว่าถูกต้องตามระเบียบราชการ กรุงเทพมหานคร ต้องมีส่วนร่วม โดยการจัดสรรงบประมาณช่วยชดเชยให้ 2 ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำด้วยการช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยต่างๆ ต้องเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว ถุงยังชีพ ต้องช่วยเหลือต่อเนื่อง

นายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า จากนี้จะนำจดหมายดังกล่าวส่งไปยัง พล.อ.ประวิตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมพิจารณาให้การช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป