การทดสอบชุดนี้ เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่ประะานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับอาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีน

อาวุธไฮเปอร์โซนิก จะถูกปล่อยจากฐานด้วยจรวดขับดัน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศตอนบน ก่อนจะพุ่งเข้าหาเป้าหมายโจมตี ด้วยความเร็วเหนือความเร็วของเสียง 5 เท่า หรือมากกว่า หรือประมาณ 3,853 ไมล์ (6,200 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง

ด้วยความเร็วสูงขนาดนี้ ทำให้เป็นการยากที่ระบบป้องกันขีปนาวุธของเป้าหมายจะตรวจจับ และสกัดกั้นได้ทัน และการพัฒนายังเน้นแนวพุ่งของขีปนาวุธ ให้ต่ำกว่าแนวโค้งสูงตามปกติ ยิ่งต่ำยิ่งตรวจจับยาก

การพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ของสหรัฐ จะเน้นที่การปล่อยขีปนาวุธจากเรือบนผิวน้ำ จากฐานบนบก และจากอากาศยาน

แถลงการณ์ของเพนตากอน ระบุว่า กองทัพเรือ กองทัพบกและกองทัพอากาศสหรัฐ เป็น 3 หน่วยงานหลัก ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก “แบบธรรมดา” ในปีงบประมาณ 2022 หรือปี 2565 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

การทดสอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ศูนย์วิจัยทดลองแห่งชาติแซนเดีย ทำการทดสอบจากสถานีทดสอบอากาศยานขององค์การนาซา บนเกาะวัลลอปส์ นอกชายฝั่งรัฐเวอร์จิเนีย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการทดสอบระบบ หรือ ซีพีเอส (Conventional Prompt Strike : CPS) ของกองทัพเรือ ส่วนกองทัพบกทดสอบระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิกพิสัยไกล หรือ แอลอาร์เอชดับเบิลยู (Long Range Hypersonic Weapon : LRHW)

สหรัฐมุ่งมั่นพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก อย่างจริงจังต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 หรือเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาอาวุธล้ำยุคในรูปแบบ ที่สามารถโจมตีเป้าหมายศัตรูทุกจุดทั่วโลก ในเวลาอันรวดเร็วฉับพลัน แบบศัตรูไม่ทันได้ตั้งตัวรับมือ

Carnegie Endowment

เพนตากอนกำหนดให้การพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก เป็นหนี่งในนโยบายสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ 2 ประเทศปรปักษ์คู่หู จีน-รัสเซีย กำลังคร่ำเคร่งพัฒนาอาวุธประเภทนี้อยู่เช่นกัน

การทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐ มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ รวมถึงความล้มเหลวล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ซ้ำรอยการทดสอบของกองทัพอากาศ ในเดือน เม.ย.ปีนี้ นั่นหมายความว่า จนถึงขณะนี้ การพัฒนาของสหรัฐยังไม่ประสบความสำเร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

สุดสัปดาห์ก่อน หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงาน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ พีแอลเอ ประสบความสำเร็จในการทดสอบ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกแบบติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยการทดสอบของพีแอลเอ เป็นการยิงขีปนาวุธจากระบบโจมตีในวงโคจรนอกโลก

รายงานความสำเร็จในการทดสอบของจีน ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านปลดอาวุธของรัฐบาลสหรัฐ ถึงกับผวา โดยบอกว่าเทคโนโลยีทางทหารของจีน พัฒนาไปไกลเกินกว่าที่สหรัฐเคยประเมินไว้

และ 3 สัปดาห์ก่อน กองทัพรัสเซียประกาศอ้างความสำเร็จ การทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก “เซอร์คอน” ยิงจากเรือดำน้ำ ในทะเลแบเรนต์ส ใกล้ขั้วโลกเหนือ เป็นครั้งแรก หลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงจากเรือรบบนผิวน้ำ เมื่อหลายเดือนก่อน

รัฐบาลสหรัฐกล่าวว่า เนื่องจากจีนและรัสเซียมุ่งมั่นพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกอย่างต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐต้องตอบสนองให้สอดคล้องกัน แต่ก็คาดหวังว่า จะมีการหารือกันในระดับนานาชาติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และกลไกที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES