ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคาร ศอ.บต. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้การต้อนรับคณะพระสังฆาธิการ และผู้นำเครือข่ายพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ รวมถึงการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ และฆราวาสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโอกาสก่อนเดินทางเข้าเฝ้า เพื่อกราบบังคมทูลสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 23–29 ตุลาคม 2564 โดยมี พระครูโฆษิตสุตาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้นำเครือข่ายพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 64 รูป/คน เข้าร่วม 

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การใช้ชีวิตของพระสงฆ์ และพี่น้องประชาชนชาวไทยพุทธ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ฯ และภายใต้สถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ส่งผลให้การปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์ ไม่สามารถกระทำได้ ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการขับเคลื่อน และส่งเสริมสนับสนุนพุทธศาสนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และให้กำลังใจแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งภาครัฐไม่สามารถทอดทิ้งทุกเชื้อชาติ ศาสนา ให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงลำพัง แต่เราจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับมาดำเนินชีวิตภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรมอย่างสงบสุข 

ด้านผู้แทนสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวถึงความรู้สึกในครั้งนี้ว่า รู้สึกภาคภูมิใจ ที่ ศอ.บต.ได้มอบโอกาสให้กับชาวพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ อีกทั้งในการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งนี้ เพื่อนำกลับมาพัฒนาพื้นที่ต่อไป

สำหรับกิจกรรม ที่จัดขึ้นในครั้งนี้คณะพระสังฆาธิการ และผู้นำเครือข่ายพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกำหนดเข้าเฝ้าเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อกราบสักการะพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์ตลอดจนเดินทางไปเยี่ยมชมวัดวาอารามที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมให้แกนนำและเครือข่ายด้านพระพุทธศาสนา เกิดความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม สืบทอดและทำนุบำรุงกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป