ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ในช่วงปลายเดือน พ.ย.-ต้นเดือน ธ.ค.2567 นั้น ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) ซึ่งนำโดย นายหัสนัย แก้วกุล ประธาน กกร.และประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นายอภิพันธ์ ภู่ภักดี ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นายอติณัฐ พฤฒิพงศ์พิสุทธิ์ กรรมการสมาคมธนาคารไทยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ร่วมประชุมกันที่ จ.เชียงราย เพื่อจัดทำข้อเสนอเป็น “สมุดปกขาว” เสนอให้ ครม.สัญจร ได้นำไปดำเนินการโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือที่ผ่านมา
โดยนายหัสนัย กล่าวว่า พื้นที่ 4 จังหวัดของภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) ประสบอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2567 แม้จะมีการฟื้นฟูแต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร เพราะพืชผลทางการเกษตรจมน้ำเสียหาย และส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนในที่สุด เพราะเกษตรกรถือเป็นลูกค้าหลักและเป็นสายป่านสำคัญของภาคเอกชน ดังนั้น กกร.จึงจัดประชุมเพื่อจัดทำ “สมุดปกขาว” เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบจากแง่มุมของเอกชนที่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากภาคประชาชน โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือ การฟื้นฟูภาคการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งตามปกติเกษตรกรจะปลูกข้าวพันธุ์เดิมๆ เช่น หอมมะลิ กข.6 ฯลฯ ต้องเก็บเกี่ยวช่วงเดียวหรือหลัง ส.ค.-ก.ย.ซึ่งจะถูกน้ำท่วมเสียหายหมด
นายหัสนัย กล่าวด้วยว่า ดังนั้นจึงขอให้ภาครัฐสนับสนุนการปลูกข้าวและพันธุ์ข้าวที่เติบโตเร็วแต่มีคุณภาพดีและให้ผลผลิตมาก คือ ข้าวพันธุ์ปทุม 1 ปทุม 2 ฯลฯ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ก็เก็บเกี่ยวได้ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. ทำให้ไม่ถูกน้ำท่วม รวมทั้งส่งเสริมนาข้าวอินทรีย์ ราคาก็จะสูงกว่าพันธุ์เดิมๆ และทำให้สามารถปลูกได้ปีละถึง 2 ครั้ง โดยขอให้ดำเนินการในฤดูปี 2568 เป็นต้นไปเพราะปัจจุบันล่วงระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว หากทำสำเร็จจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรเพราะมีรายได้มากขึ้นกว่าการปลูกปีละแค่ครั้งเดียว ผลผลิตก็สูงมากกว่า 600 กิโลกรัมต่อไร่ จากพันธุ์เดิมๆ ที่ได้เพียง 470 กิโลกรัมต่อไร่ หากมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกของเกษตรกรก็จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคเหนือได้เป็นอย่างดี
ทางด้านนายคงศักดิ์ ธรานิศร เลขาธิการ กกร.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือบน 2 กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อ 5 ปีก่อนพบว่า ภาคเหนือตอนบน 2 มีพื้นที่ปลูกข้าว 2.3 ล้านไร่ ให้ผลผลิตทั้งนาปีและนาปรังประมาณ 1.3 ล้านตัน หากมีการพัฒนาการปลูกด้วยการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวดังกล่าวและใช้เกษตรอินทรีย์ก็จะทำให้เศรษฐกิจการเกษตรขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน ส่วนการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ผ่านการรับรองของกรมวิชาการเกษตร ก็จะสามารถพัฒนาไปเป็นพืชชนิดอื่นได้ เช่น กาแฟ ฯลฯ เพราะตลาดปัจจุบันต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงเนื่องจากคนกลัวสารเคมีโดยมีตัวอย่างการประกาศว่าองุ่นไชน์มัสแคทมีสารเคมีตกค้าง เป็นต้น ทั้งนี้หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจการเกษตรมีการพัฒนาและเกิดเงินหมุนเวียนราวๆ 3 แสนล้านบาทต่อปี ก็จะทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างแน่นอน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นอกจากกรณีส่งเสริมให้เปลี่ยนการปลูกพันธุ์ข้าวดังกล่าวแล้ว ในสมุดปกขาว ทาง กกร.ยังได้เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการจัดกิจกรรมงานเทศกาลต่างๆ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกเดือนของปี, ให้ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีป้ายเป็นเวลา 2 ปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระของประชาชนเพราะภาษีมีผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และขอให้ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และน้ำมัน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้ทาง กกร.ยืนยันว่าเนื้อหาของสมุดปกขาวมาจากข้อมูลจากภาคประชาชนที่เชื่อมกับภาคเอกชนอย่างแท้จริง และเมื่อนำเสนอแล้วก็จะตั้งคณะทำงานติดตามผลเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปอีกด้วย.