นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 35 (3) แห่งพระระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สาธารณะ ณ วันที่ 31 ส.ค. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 11.728 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ตามที่โดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณ หรือ คนน. ได้รายงานสถานะหนี้ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบไม่เกิน 70%

ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ในการทำนโยบายจะต้องรัดกุม และมีประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีการรายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 53 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐบาลพยายามควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ซึ่งในรายงานยังระบุด้วยว่า มีการนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการวางรากฐานในการพัฒนาสร้างรายได้ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไปที่ทั่วประเทศ กระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำขยายโอกาสคุณภาพชีวิตของประชาชน

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 68 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับแผนการก่อหนี้ใหม่ ที่มีวงเงินสูงถึง 1.204 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 61,723 ล้านบาท โดยเฉพาะแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล เพิ่มขึ้นถึง 109,648 ล้านบาท จากปี 2567 วงเงิน 987,611 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1.097 ล้านล้านบาท แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 489,110 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. การเคหะแห่งชาติ หรือ กคช. และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2568