ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนัส เสียงก้อง เกษตรจังหวัดนครราชสีมา นำทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด ลงพื้นที่ให้ชี้แจงแนะนำแนวทางในการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างในมันสำปะหลังให้แก่ผู้นำและตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่ของ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรในพื้นที่ตระหนักและหันมาร่วมกันใส่ใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องของโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ที่ตอนนี้ยังคงมีการระบาดรุนแรงในพื้นที่ สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรอย่างมาก โดยในพื้นที่ อ.หนองบุญมาก มีแนวร่วมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่อยู่รวม 712 ราย รวมเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 13,400 ไร่
นายมนัส กล่าวว่า ตอนนี้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีการเพาะปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 1.1 ล้านไร่ และจากการติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องพบว่า ยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลังมากกว่า 39 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ หรือประมาณ 3.9 แสนไร่ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญก็มาจากการที่ท่อนพันธุ์ ซึ่งเกษตรกรนำมาเพาะปลูกมีเชื้อไวรัสฝังตัวอยู่ อีกทั้งยังมีแมลงหวี่ขาว ซึ่งเป็นตัวพาหะนำโรคที่จะคอยดูดน้ำเลี้ยงและนำเชื้อไปแพร่กระจาย แพร่ขยายพันธุ์จำนวนมาก จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ไปในวงกว้าง เพราะแมลงหวี่ขาวสามารถบินไกลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจพบกว่า 3.9 แสนไร่ ซึ่งตอนนี้กำลังสู่ช่วงของการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
ดังนั้นต้องเริ่มต้นในการจัดเตรียมท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูกรอบใหม่ ที่จะได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ทำการคัดเลือกเอาเฉพาะท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรคมาทำการเพาะปลูกใหม่ และคัดเอาท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อมาทำลายออกให้หมดหลังจากที่ทำการเก็บเกี่ยวแล้ว เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการคัดเลือกท่อนพันธุ์แล้ว แต่ท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อก็ถูกทิ้งอยู่ในแปลงโดยไม่มีการทำลาย ทำให้ยังมีปัญหาการติดเชื้อใหม่ได้อยู่ เพราะยังมีแมลงหวี่ขาวอยู่ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีเกษตรอำเภอ เกษตรตำบลคอยให้คำแนะนำเกษตรกรในการป้องกันและกำจัดอย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับการใช้สารเคมีชีวภัณฑ์ รวมถึงการให้แมลงศัตรูทางธรรมชาติ เพื่อลดจำนวนและกำจัดแมลงหวี่ขาว ที่เป็นพาหะนำโรคนี้ไปพร้อมกันด้วย
นายมนัส กล่าวอีกว่า อีกแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของโรคใบด่างในมันสำปะหลังได้ ก็คือการหลีกเลี่ยงการใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่อ่อนแอ ปรับเปลี่ยนมาใช้สายพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความทนทานและต้านทานโรคชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้หากเกษตรกรให้ความร่วมมือ พร้อมใจกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ทางภาครัฐก็อาจจะมีการจัดหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความต้านทานโรคมาทดแทนพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกและเป็นปัญหาในตอนนี้ เพื่อให้การจัดการปัญหานี้ได้อย่าถาวรต่อไปในอนาคต โดยได้เริ่มต้นทำความเข้าใจและปรับใช้แนววิธีการนี้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่ที่มีอยู่กว่า 10,000 ราย เนื้อที่ประมาณ 216,600 ไร่ทั่วทั้งจังหวัด ที่มีความพร้อมก่อน เพื่อให้เกิดเป็นภาพการแก้ไขปัญหาที่เห็นผลและจะได้แพร่ขยายองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ต่อไป