เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้ โดนเป็นการหารือเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (MOU 44) นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้มีทางกระทรวงการต่างประเทศ มาชี้แจงให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบ ซึ่งก็ได้มีการชี้แจงว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา อีกทั้งการเปลี่ยนรัฐบาลในแต่ละครั้ง คณะกรรมการก็จะต้องสิ้นสุดลงไปด้วย ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 2 เดือน และอยู่ในช่วงการจัดตั้งคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม MOU 44 นั้นก็ยังมีผลอยู่
เมื่อถามต่อว่า ได้รับรายงานในพื้นที่ จ.ตราด หรือไม่ หลังจากที่ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีการพูดกับผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ให้ไปพูดทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องเรียนให้ทราบว่า เกาะกูดเป็น อ.เกาะกูด จ.ตราด ถูกยกระดับจากอีกอำเภอขึ้นมา ไม่เคยมีช่วงไหนเลยที่มีความสงสัย เรื่องทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า เกาะกูดไม่เป็นของแผ่นดินประเทศไทย เพราะเกาะกูดเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ MOU 44 เป็นการลงนามการทำข้อตกลงกัน ว่าจะหาวิถีทางในการพัฒนาพลังงานในอ่าวไทย โดยเป็นการร่วมกันของประเทศกัมพูชากับประเทศไทย ซึ่ง MOU44 เป็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ในน้ำในทะเล ไม่ได้เป็นเรื่องของการแบ่งเขตแดนที่เป็นแผ่นดิน
เมื่อถามย้ำว่า MOU 44 เป็นการพูดถึงทรัพยากรใต้ทะเล นายอนุทิน กล่าวว่า การลากเขตแดน เมื่อลากกันคนละเส้น จึงจำเป็นต้องทำ MOU เพื่อมีกรรมการทั้ง 2 ประเทศ เพื่อหาข้อยุติให้ได้ และให้เห็นพ้องร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็มีช่องที่เปิดไว้เป็นข้อตกลงว่าส่วนที่ยังไม่เห็นพ้อง จะสามารถร่วมกันพัฒนาร่วมกันได้หรือไม่ หรือจะตกลงผลประโยชน์กันอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องการเจรจาของทางคณะกรรมการ
“ตอนนี้เขาตีมาเส้นหนึ่ง ตั้งแต่ปี 15 เราก็ตีไปอีกเส้นหนึ่ง ตั้งแต่ปี 16 เขาตีเฉียงมาทางเราเยอะ เราเองก็ตีไปข้างล่าง การตี 2 เส้น ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน จึงต้องมีการคุย ก็มีการกำหนดกรอบไว้ว่ามี MOU 2544 เพื่อให้หาบทสรุป แต่ตอนนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้ ก็ต้องคุยกันต่อไป” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่ารัฐบาลนี้จะหาบทสรุปในเรื่องนี้ได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า มันต้องเป็นการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่กำหนดฝ่ายเดียว ถ้าเจรจาไม่ได้ก็ต้องเจรจาต่อ หากรอบที่ 1 ไม่ได้ ก็ต้องรอบ 2 รอบ 3 รอบ 4 และในระหว่างเจรจา ต้องมาดูว่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการสำรวจหรือหาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ ถ้าได้แล้วจะแบ่งปันผลประโยชน์จากพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างไร สุดท้ายก็ต้องจบที่คำว่า ก็ต้องเจรจาไปจนกว่าจะได้ข้อตกลงร่วมกัน