น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2567 ที่กระทรวงการคลัง ว่า กระทรวงการคลัง ถือเป็นเสาหลักการคลังของประเทศที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ซึ่งเศรษฐกิจไทยวันนี้เจอปัญหารุมเร้าหลายด้าน ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก
ดังนั้น คลังต้องแก้ไขปัญหาที่สะสม พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจให้กับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ซึ่งเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีมูลค่า 9.6 แสนล้านบาท หรือมากกว่า 5% ของจีดีพีประเทศ และในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน ขอให้ช่วยกันผลักเม็ดเงินลงทุนทุกบาทลงสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างจีดีพี ให้กับประเทศและสร้างรายได้ให้กับประชาชน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายกฯ ได้มอบนโยบายให้หัวหน้าส่วนทุกกระทรวงใน 2 เรื่อง คือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน 9.6 แสนกว่าล้านบาท ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ โดยในปีนี้คลังตั้งเป้าหมายจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ 80% ซึ่งจะช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจได้ทันทีโดยไม่ต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม สำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 68 ในเดือนแรก ภาพรวมยังทำได้ดีว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งอยากให้หน่วยราชการรักษาค่าเฉลี่ยการเบิกจ่ายนี้ให้ได้ และกระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ในเรื่องการเบิกจ่าย โดยหลังจากนี้ทางภาครัฐจะมีการติดตามการเบิกจ่ายเชิงรุก ให้รายงานผลการเบิกจ่ายให้ทราบทุกสัปดาห์
ส่วนอีกเรื่องเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องใช้ข้อมูลของส่วนราชการต่างๆมาเชื่อมโยง เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนการเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และของขวัญปีใหม่ ยังไม่มีการพูดคุยในการประชุมครั้งนี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งระยะกลางและยาว ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งมาตรการเหล่านั้น เราต้องเดินหน้า เพื่อให้ต้นทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคเอกชน อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น อยู่ระหว่างคลัง ธปท. และธนาคารพาณิชย์หารือกัน ส่วนธนาคารพาณิชย์ได้ยื่นข้อเสนอลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนเอฟไอดีเอฟ เพื่อชดเชยกับการยกเว้นดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ เป็นหนึ่งในข้อเสนอ ซึ่งกระทรวงการคลังก็รับได้ ถ้าเป็นการทำเพื่อประชาชน