เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ช่วงนี้ต้องอยู่ที่บ้านบ่อย เวลาว่างเหลือเยอะ จึงใช้เวลาดังกล่าวตรวจสอบข่าวสาร บัญชีทรัพย์สินนักการเมือง และข่าวนายกรัฐมนตรี ซึ่งของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็มีข่าวออกมาให้ตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ วันนี้จึงได้ส่งหนังสือถึง กกต. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร มีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ กรณีจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำร้องเป็นข้อๆ ดังนี้
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ข้อ 1. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. เว็บไซต์ข่าวออนไลน์สำนักหนึ่ง ปรากฏหัวข้อข่าว กลัวไม่ครบ! นายกฯ อิ๊งค์ หนักใจ เร่งถ่ายรูปทรัพย์สินยื่น ป.ป.ช. ย้ำต้องทำให้ถูกก.ม. ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า “เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 22 ต.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเตรียมข้อมูลการโอนหุ้นบริษัทต่างๆ ก่อนยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตอนนี้ทางบริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร ซึ่งต้องให้เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง”
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 2 พ.ย. เว็บไซต์ www.thaimoveinstitute.com หัวข้อ เปิดโป๊ะที่แท้ นายกฯ อิ๊งค์ ไม่ได้ร่วมซ้อมพิธีรับเสด็จ จนเกิดเรื่องฉาวสนั่น พบแค่เดินทางมาตรวจตั้งแต่กันยา-ฟังขั้นตอน ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่งดังนี้ ต่อมามีคลิปที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ก็คือ น.ส.แพทองธาร ได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ด้วย และได้มีการเดินร่วมกับขบวนเสด็จฯ แต่ถูกส่งสัญญาณมือให้นายกรัฐมนตรีอิ๊งค์ ทราบเบาๆ เรื่องการเดินล้ำแนวแถวเสด็จฯ งานพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นจำนวนมากทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีรายงานเปิดเผยถึงความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ได้เกิดจากการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธี (ตามข่าวน่าจะไม่ได้ไปร่วมซ้อมทุกนัด)
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ข้อ 3. จากการกระทำของ น.ส.แพทองธาร ตามข่าวทั้งสองข้างต้น จึงควรไปตรวจสอบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรม ในมาตราและข้อต่างๆ ดังนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการ ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
ข้อ 4. กรณีตามข่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่มีการระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “ตอนนี้ทางบริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร” นั้น เป็นเหตุอันควรตรวจสอบเนื่องจาก น.ส.แพทองธาร เคยแจ้งการลาออกจากบริษัทต่างๆ ไปแล้ว เหตุใดจึงยังมีบริษัทมาช่วยทำบัญชีทรัพย์สินซึ่งควรเป็นเรื่องส่วนตัว และการช่วยนั้น จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 9 หรือไม่ อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวต่ออีกว่า ข้อ 5. กรณีตามข่าวเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ในข่าวมีการระบุไว้เป็นส่วนๆ ว่า “เรื่องการเดินล้ำแนวแถวเสด็จฯ งานพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นจำนวนมาก” หรือที่ระบุว่า “ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีรายงานเปิดเผยถึงความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ได้เกิดจากการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธี” นั้น กรณีการล้ำแนวแถวเสด็จฯ งานพระราชพิธี และการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธีจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 19 หรือไม่
ข้อ 6. ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงจากข่าวทั้งสองข้างต้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบต่อไปว่า การกระทำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดังกล่าว ทั้งสองเหตุการณ์นั้น จะเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่ หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ กรณี จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่.