นโยบายการมอบสัญชาติไทยให้กับกลุ่มชาติพันธ์ ที่ดูเหมือนจะเป็นการแช่แข็งมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมองว่าการขอสัญชาติให้บุคคลแต่ละบุคคล ก็ถือว่า เป็นกระบวนการ ที่ ยุ่งยากและซับซ้อน

ถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่มีสัญชาติ เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ระหว่างประชาชนชาวไทย และกลุ่มคนที่ยังไม่มีสัญชาติ  ที่ต้องยอมรับเลยคือ กลุ่มคนเหล่านี้มีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งด้านสิทธิการศึกษาที่ในทางปฏิบัติ ด้านการเดินทางออกนอกพื้นที่อำเภอ จังหวัด เพื่อการทำงานหรือเพื่อเรียนต่อ  ทำให้เสียโอกาสหลายด้าน

โดยล่าสุดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา  มีมติอนุมัติ หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานและกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็ก นักเรียน นักศึกษา และบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศกว่า 483,626 คน

ทั้งนี้ยังมีเสียงวิพากวิจารณ์ออกมามากมายว่า การเร่งรัดนี้จะทำให้เกิดช่องโหว่เกิดขึ้น รวมถึงอาจจะเร่งรัดให้เกิดขึ้นเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มทุนสีเทา มองว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง สร้างความเสียหายให้กับความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางเชื้อชาติ ความมั่นคงทางวัฒนธรรม รวมทั้งกระทบต่อการดำรงชีวิตในสังคมและระบบเศรษฐกิจของประชาชนชาวไทย

งานนี้รัฐบาล ก็ออกมาชี้แจ้งว่า เป็นการให้สัญชาติต่อผู้ที่ยื่นขอไว้ และอยู่ในระบบของทางราชการมากว่า 30 ปี ไม่ใช่ให้สัญชาติแก่คนสีเทาๆ หรือพวกอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535-2566 มีประมาณ 8.25 แสนคน ซึ่งใช้เวลาไปแล้วถึง 31 ปี หลายรัฐบาลอนุมัติไปได้แค่ 3.24 แสนคน ซึ่งคนจำนวนมากรอจนเสียชีวิตไปแล้วก็มาก และปัจจุบันยังมีตกค้างอยู่อีกราว 4.83 แสนคน ซึ่ง หากยังใช้ขั้นตอนเดิมในยุคก่อนต้องใช้เวลาถึง 44 ปี

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) หนึ่งในกรรมธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ก็มองว่า 480,000 คนที่ว่าคือคนไทยที่ตกหล่นและสมควรได้รับสัญชาติไทยมาตั้งนานแล้วและทาง กมธ.เอง ก็ทำรายงานฉบับนี้ส่งไปให้รัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามจะผลักดัน และต้องขอบคุณไปยังรัฐบาลที่เห็นถึงความสำคัญ ทำให้ 480,000 คน ตรงนี้มีโอกาสเป็นคนไทยอย่างภาคภูมิ ทั้งนี้หากพบว่าให้สัญชาติไปแล้วและภายหลังตรวจสอบพบว่าเกี่ยวกับทุนสีเทาที่ผิดกฎหมายก็ถอนทีหลังได้ เพราะเชื่อว่าคนที่สมควรได้รับมีมากกว่าทุนสีเทา 

งานนี้ดูเหมือนจะทำให้ประเทศไทยจากการที่นำโดยรัฐบาลแพทองธาร จะได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น เพราะล่าสุด สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ชื่นชมแนวทางแก้ปัญหาและยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของรัฐบาลไทย โดยระบุว่า ถือเป็นก้าวสำคัญของไทยและประวัติศาสตร์ในการลดจำนวนผู้ไร้สัญชาติมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาโดยความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรม ถือว่าเป็นการปลดล็อกศักยภาพ เปิดโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงาน พร้อมกับยกย่องให้ไทย เป็นผู้นำระดับโลกและระดับภูมิภาคในการขจัดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ

ท้ายที่สุดแล้วการเดินหน้าเร่งรัดแก้ไขหลักเกณฑ์การให้สัญชาติของไทยจะสามารถเดินหน้าและจัดการให้แล้วเสร็จได้เร็วยิ่งขึ้นได้ตามความต้องการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศไว้เสมอว่า ”คนไทยทุกคนต้องมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี“

หรือหากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถทำให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ได้ จะอาจกลายเป็นหนามแหลมที่หันกลับมาทิ่มแทงรัฐบาล เพราะมองว่าเป็นเพียงการขายฝันให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เฝ้ารอความเสมอภาคมาตลอดชีวิต จนทำให้ความศรัทธาที่มีอยู่กับรัฐบาลก็จะลดน้อยลง