“ขันลงหิน เจียม แสงสัจจา” ชุมชนวัดสุวรรณาราม (บ้านบุ) ที่มาพร้อมสเตนเลสบ้านบุคอลเลกชัน “มะตูมเชื่อมป้าตุ๊” ตรอกมะตูม “ข้าวเม่าหมี่” ชุมชนตรอกข้าวเม่า “ศักดิ์ปรีชาเซรามิค” หัตถกรรมเบญจรงค์ไทย จรัญสนิทวงศ์ 37 “ผ้าเขียนลาย (ผ้าใยกัญชง)” จรัญสนิทวงศ์ 35 ของดีบางกอกน้อยที่นำมาจัดแสดงเพื่อเรียกน้ำย่อยระหว่างงานแถลงข่าวงาน “ศิริราช @บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 6” (จัดจ้านในย่านนี้) งานเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงพยาบาลศิริราชและชุมชนเขตบางกอกน้อย ที่เว้นช่วงห่างหายไปหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาร่วมมือรวมตัวกันจัดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงความพร้อมใจของโรงพยาบาลและชุมชนบางกอกน้อย แต่ยังรวมไปถึงหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่างสำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เลยไปถึงเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นไทยเบฟเวอเรจ, แสงชัย อีควิพเม้นท์, สยามราชธานี, พีทีจี เอ็นเนอยี, โรงพยาบาลธนบุรี, ธนาคารกสิกรไทย, เอส แอนด์ พี, กรีนสปอต, บางจาก, ทีที เมดิซิน และไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล็งเห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมุ่งเน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงจัดงานศิริราช@บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 6 จัดจ้านในย่านนี้ขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสุขภายในองค์กร เปิดโอกาสให้บุคลากรได้ผ่อนคลายและสร้างสรรค์บรรยากาศแห่งความสุขร่วมกัน (Happy Workplace) พร้อมส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนบางกอกน้อยและภาคีเครือข่าย อีกทั้งยังมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม กระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างความมีส่วนร่วมในด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตภัณฑ์ของดีบางกอกน้อยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
“การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “สามัญประจำย่าน” มาจากยาสามัญประจำบ้านที่ประชาชนควรซื้อไว้ดูแลตัวเอง แต่บ้านของเรามีขนาดใหญ่และมีหลายชีวิตที่จะต้องดูแล คงต้องเรียกว่า “ย่าน” ซึ่ง “ย่านบางกอกน้อย” ได้ดูแลกันมายาวนานกว่า 136 ปี แสดงถึงความจัดจ้านในการดูแลสุขภาพกายและใจ เป็น “ความห่วงใย” หรือ “CARE” โดยมาจาก Contribution & Caring ความห่วงใยที่มีให้กัน อยากให้ทุกคนมีความสุข สุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยการดูแลรักษาโลก เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และตอบโจทย์ในเรื่องของ Sustainability และ Edutainment ใช้ความบันเทิงเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนบางกอกน้อย พร้อมทั้งผู้สนับสนุน”
ศ.พญ.นันทกร ทองแตง รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและองค์กรสัมพันธ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มาในธีม “จัดจ้านในย่านนี้” เพราะอยากให้ทุกท่านได้เพิ่มสีสันให้ชีวิต หลุดจากอะไรเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และมีความสุขขึ้น จึงได้รวบรวมกิจกรรมสุดพิเศษให้ร่วมสนุกกันแบบจุใจ โดยมีกิจกรรมไฮไลต์สร้างสีสันและความสนุกอย่างมากมายถึง 4 ย่าน ได้แก่ ย่าน..แห่งความสุข ณ บริเวณอุทยานสถานพิมุข ฟรีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักศึกษาแพทย์และนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ได้แสดงความสามารถด้วย นอกจากนี้ยังมีการแสดงขับร้องจากคณะนักร้องประสานเสียงศิริราชอาวุโส ซึ่งมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.ชูศรี พิศลยบุตร เป็นผู้อำนวยการวง และ อาจารย์ศรินทร์ จินตนเสรี เป็นผู้อำนวยการดนตรี
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงสินค้าชุมชน “ของดีบางกอกน้อย” พร้อมเกมสนุก ๆ และมีของรางวัลมากมาย มาที่ ย่าน..สนุก ณ บริเวณลานสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และบริเวณหอประชุมราชแพทยาลัย พื้นที่จัดแสดงศิลปะ วัฒนธรรมพื้นถิ่นในแบบภาพถ่ายหัวข้อ “บางกอกน้อยของฉัน My Kind of Bangkok Noi” ของสโมสรนักศึกษาแพทย์ และงานของสโมสรนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในหัวข้อ “Bangkok Noi past present and future : บางกอกน้อย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” รวมถึงงานศิลปะจาก วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ และบูธ ฉายานิติกร ให้ทุกคนได้ถ่ายภาพกับฉากสวยๆ โดยคิดค่าบริการเพียงแค่ 99 บาท รวมค่าพิมพ์ภาพ แถมไฟล์ให้ไปดาวน์โหลดได้ฟรี
ผู้ที่สนใจด้านการแพทย์แนะนำให้เข้าชม “พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช” ณ ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 และ “พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน” ณ ตึกกายวิภาคศาสตร์ ที่มีอวัยวะมากกว่า 2,000 ชิ้น เริ่มเก็บรวบรวมโดย ศ.เอ็ดการ์ เดวิดสัน คองดอน เปิดให้เข้าชมช่วง 17.00-19.00 น. เท่านั้น
ส่วน ย่าน..อร่อย เอาใจสายกินด้วยการรวมร้านค้ามากกว่า 100 ร้าน ณ ตึกชัยนาทนเรนทรานุสรณ์ ตึกวิบุลลักสม์ ตึกอำนวยการ หอประชุมแพทยาลัย และอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ปิดท้ายที่ ย่าน..นี้ดี นิทรรศการรักษ์โลก ณ โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ และการบริหารจัดการคัดแยกขยะภายในงาน
พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้สืบทอดภูมิปัญญาขันลงหินบ้านบุคนปัจจุบัน บอกว่า ขันลงหินเป็นสัมฤทธิ์ทำมาจากโลหะผสมระหว่างดีบุกกับทองแดง เป็นสำริดขัดเงาซึ่งสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากอยุธยาราว 200 กว่าปีมาแล้ว จากช่างที่เคยมีมากถึง 80 คนเหลือเพียงไม่ถึง 10 คนในวันนี้ เพราะความยากในการผลิตชิ้นงานที่ต้องอาศัยทั้งความแข็งแรงของร่างกายที่จะต้องตีโลหะขึ้นรูป และต้องมีความละเอียดอ่อนในการฉลุลายและขัดเงา ซึ่งแต่เดิมใช้ก้อนกรวดก้อนหินกับน้ำมันในการขัดเงาจึงเป็นที่มาของชื่อลงหิน ปัจจุบันด้วยกำลังการผลิตที่มีจำกัดจึงมีชิ้นงานออกมาไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นการสั่งทำจากหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก
มาชมขันลงหินที่จะเอาชิ้นงานมาจัดแสดงพร้อมการสาธิตงานหัตถกรรมหนึ่งเดียวในโลก ณ วันนี้ พร้อมกับแต่งกายสีสันสดใส จัดจ้านกันให้เต็มที่ แล้วมาสนุกด้วยกันที่งาน “ศิริราช @ บางกอกน้อยเฟสติวัล” ครั้งที่ 6 (จัดจ้านในย่านนี้) จัดขึ้นระหว่าง 25-29 พฤศจิกายน 2567 เวลา 07.00-19.00 น. ณ อุทยานสถานพิมุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.