ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นางสาวสุนารี บุญชุบ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา นางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความมั่นใจในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ควบคู่กับการเตรียมแผนรับมือเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยมีนายฐิติกร ศรีนิติวรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสงขลา นายสิทธิพร เพชรศรี หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานสงขลา และนายสมบูรณ์ทัศน์ สุริยะย์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานสงขลาและนายสุรศักดิ์ ทองปนแก้ว หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 โครงการชลประทานสงขลาร่วมให้ข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ
จากนั้น นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ไปยังประตูระบายน้ำหน้าควน ซึ่งเป็นจุดรับน้ำเข้าคลองระบายน้ำภูมินาถดำริ (คลอง ร.1) ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยจะผันน้ำจากคลองอู่ตะเภาที่ไหลมาจากอำเภอสะเดา ลงสู่คลองระบายน้ำภูมินาถดำริ หรือคลองระบายน้ำ ร.1 ไปออกสู่ทะเลสาบสงขลา จุดที่ 2 คือประตูระบายน้ำคลองเตย ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งจะรับน้ำจากคูคลองในโซนเศรษฐกิจชั้นในของตัวเมืองหาดใหญ่ทั้งหมด ระบายของออกจากคลองเตย ไปลงคลองอู่ตะเภาเพื่อสู่ทะเลสาบสงขลา
นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการมาตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสงขลา โดยจังหวัดสงขลา ได้บูรณาการร่วมกับโครงการชลประทานสงขลา ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในช่วงนี้ทางภาคใต้ได้เข้าสู่ฤดูฝน และทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ลงมา ต้องเตรียมรับมือฝนตกหนัก คลื่นลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดังนั้นจึงต้องมาติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก
สำหรับการเตรียมความพร้อมการเผชิญเหตุและรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดสงขลา มีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย การตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ กั้นน้ำ การบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว การเตรียมพร้อมเครื่องอุปโภค – บริโภค ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ ช่องทางการแจ้งเหตุต่างๆ หรือสายด่วนให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรมอุตุฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ไม่หลงเชื่อข่าวปลอม และไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูลที่อาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม
ด้านนายสมบูรณ์ทัศน์ สุริยะย์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานสงขลา กล่าวว่า ขณะทางโครงการชลประทานสงขลา ได้มีการวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมการก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่การซักซ้อมการปฏิบัติงาน การตรวจสอบความพร้อมของประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลอง ร. 1 และประตูระบายน้ำคลองอู่ตะเภาให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรองรับน้ำ จัดสรรน้ำ และระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งระบบโทรมาสเตือนภัยในคลองอู่ตะเภา เพื่อแจ้งเตือนภัยทั้งระดับน้ำในคลองอู่ตะเภาและปริมาณฝนที่ตก ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 17 จุด ในพื้นที่เสี่ยงสำคัญ พื้นที่ที่มีระดับน้ำท่วมสูง หรือน้ำทะเลหนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในช่วงอุทกภัย
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย หรือมีข้อแนะนำในการป้องกันสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น สามารถโทรสายด่วนนิรภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ที่หมายเลข 1784, ตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง สอบถามเส้นทางน้ำท่วม 1586, สายด่วนกู้ภัย (มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) 1163, บริการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669, เหตุด่วนเหตุร้าย 191, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สงขลา 1129 และศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง