เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เผยความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยท่ามกลางสภาวะตลาดหดตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสนอแนวทางความร่วมมือจากแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนที่ทำตลาดในประเทศไทย สู่โซลูชันเพื่อการมุ่งเน้นสร้างการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน นำเสนอแนวคิดโดย ไมเคิล ฉง กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ในงาน 2nd Southeast Asia-China EV Industry Conference 2024 เมื่อไม่นานมานี้ ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ   

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงานใหม่ (NEV) ของประเทศจีน เกิดจากความร่วมมือผู้ประกอบการ และกรอบนโยบายทางการเมืองที่แข็งแกร่ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรม NEV ของจีนเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก  ในปัจจุบันทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบในวงกว้างจากสงครามราคาที่ดุเดือด ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจ มีความท้าทายเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลล่าสุด ยอดการผลิตและยอดขายของรถยนต์ในประเทศไทยมีอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ปี 2567 มียอดขายรวม 307,810 คัน ลดลง 24% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยเมื่อเทียบเป็นรายปี พบยอดขายของรถยนต์พีพีวี ลดลง 43% รถกระบะลดลง 40% รถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลง 14% และรถยนต์เอสยูวีลดลง 11%

ในทางกลับกัน แบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนที่หลากหลายกว่า 10 แบรนด์ ที่ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการมอบประสบการณ์ทางเลือกที่ดีกว่า สู่การเดินทางและการขับขี่ที่อัจฉริยะ และมาพร้อมพลังงานสะอาดเพื่อการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ เส้นทาง เป็นตัวเลือกที่มีคุณภาพ และล้ำหน้าไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีน และตลอดทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านบริการทางการเงิน โลจิสติกส์ และความสามารถด้านการบริหารจัดการธุรกิจในตลาดต่างประเทศ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่แบรนด์ต่างล้วนเร่งหากลยุทธ์ที่จะช่วยมุ่งเน้นสร้างการเติบโต และความแข็งแกร่งทางธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ไมเคิล ฉง กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ แบรนด์รถยนต์พลังงานใหม่สัญชาติจีนจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงโครงสร้างภายในแทนการทำการตลาดที่เน้นราคา มุ่งเน้นความร่วมมือด้านการลงทุน เทคโนโลยี การทำการตลาด และห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างสวนอุตสาหกรรมในตลาดต่างประเทศร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาและปรับปรุงในด้านการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานโลก การส่งเสริมการขายที่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์โดยรวมต่อทั้งอุตสาหกรรม นำไปสู่ประสบการณ์การใช้งานที่ดีเลิศของผู้บริโภค จนนำไปสู่ชื่อเสียงในระดับโลก  ล่าสุด มีแบรนด์รถยนต์พลังงานใหม่สัญชาติจีน 6 แบรนด์ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่ชี้ชัดว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูง และเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคสำหรับการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาไปยังตลาดโลก สะท้อนขีดความสามารถของทักษะแรงงานชาวไทย และยังส่งผลให้เศรษฐกิจ และสังคมไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”

“ความสำคัญที่ช่วยเร่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจในไทย คือ ความร่วมมือจากภาครัฐระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งเป็นนโยบายความร่วมมือระดับโลกระหว่างจีนและนานาชาติ โดยให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งจะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรม นโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทั้งสองเฟส (EV 3.0 และ EV 3.5) ที่ผลักดันการเข้ามาลงทุนของบริษัทรถยนต์จากประเทศจีน โดยในเฟสแรกมีรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เข้าร่วมถึง 15 บริษัทจาก 13 แบรนด์ รวมไปถึง “โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย” (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยการผสานโครงการเหล่านี้เข้าด้วยกัน นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของประเทศจีนและประเทศไทย”