คำตอบก็คือ ‘ก๊าซชีวภาพ’ หรือ ‘ไบโอแก๊ส’ (Biogas) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างวัฏจักรของทรัพยากรภายในชุมชนที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากก๊าซชีวภาพถือเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ พืชที่เน่าเปื่อย ขยะอินทรีย์ ภายใต้สภาวะที่ไม่มีออกซิเจน (Anaerobic) โดยกระบวนการนี้เรียกว่า การหมัก (Fermentation)
เมื่อสารอินทรีย์เหล่านี้ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในสภาวะไร้อากาศ จะเกิดก๊าซหลายชนิดขึ้นมา โดยส่วนประกอบหลักคือ ก๊าซมีเทน (Methane) ซึ่งเป็นแก๊สที่ติดไฟได้ และ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) นอกจากนี้ยังมีก๊าซอื่นๆ ปะปนอยู่เล็กน้อย เช่น ไฮโดรเจน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไนโตรเจน
ทำให้ชุมชนสามารถนำเอาขยะและของเสียมาแปรรูปเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณขยะและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การผลิตก๊าซชีวภาพยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมและมีแรงจูงใจในการผลิตพืชพลังงานมากขึ้น
การใช้ก๊าซชีวภาพยังช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่าง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาผันผวนและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลก เมื่อชุมชนสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้เอง ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือนและอุตสาหกรรมขนาดเล็กในชุมชนได้อีกด้วย นอกจากนี้ ก๊าซชีวภาพยังเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงช่วยลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแล้ว การส่งเสริมการผลิตและการใช้ก๊าซชีวภาพในชุมชนยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพราะการทำงานร่วมกันของคนในชุมชนในการผลิตและบริหารจัดการระบบก๊าซชีวภาพ จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
สอดคล้องกับการที่ ‘กระทรวงพลังงาน’ เดินหน้าส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพผ่าน ‘โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จ.ลำพูน’ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดมูลสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนนำมูลสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแก๊สหุงต้ม (LPG) ในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการหุงต้มอาหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อมจากมูลสัตว์
‘เพทาย หมุดธรรม’ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนชุมชนศรีบัวบาน อำเภอศรีบัวบาน จังหวัดลำพูน ให้ผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยชุมชนได้นำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแก๊สหุงต้มในครัวเรือนกว่า 180 ครัวเรือน
โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากการติดตั้งบ่อหมักก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่ จำนวน 8 บ่อ ใน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองหล่ม บ้านป่าป๋วย และบ้านทุ่งยาว ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้นอกจากจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพิงแล้ว ยังช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ที่สร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านอีกด้วย
“การนำก๊าซชีวภาพมาใช้ในชุมชนศรีบัวบาน นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และยังเป็นการอนุรักษ์พลังงานของประเทศอีกด้วย” เพทาย ย้ำ
สำหรับจุดเด่นของโครงการ คือการมีระบบท่อส่งก๊าซชีวภาพที่เชื่อมต่อระหว่างบ่อหมักและครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านสามารถใช้ก๊าซชีวภาพได้อย่างสะดวกสบายและทั่วถึง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลศรีบัวบานและความร่วมมือจากชาวชุมชน ทำให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา ระบบ Biogas Network ประสบปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพการกรองก๊าซชีวภาพโดยเฉพาะก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาชนะหุงต้มและอุปกรณ์โลหะภายในบ้านเสียหาย เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์มีฤทธิ์กัดกร่อน นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องแรงดันก๊าซที่ต่ำเนื่องจากไม่มีสถานีเพิ่มแรงดัน ก็เป็นอุปสรรคต่อการนำก๊าซชีวภาพไปใช้งานในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นแก้ไขปัญหาดังกล่าว ชุมชนและเทศบาลจึงได้ร่วมมือกับ ‘บริษัท ซีเนอร์จี้ โซลูชั่นส์’ ในการนำเทคโนโลยีการดูดซับก๊าซธรรมชาติ (Absorbed natural gas : ANG) มาประยุกต์ใช้ในการอัดเก็บก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มสุกร โดยเทคโนโลยี ANG เป็นกระบวนการที่ใช้สารดูดซับที่มีคุณสมบัติในการดึงดูดและกักเก็บก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ เช่น มูลสัตว์ โดยก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มสุกรสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเครื่องจักรกลได้
เมื่อนำ ANG มาประยุกต์ใช้ จะช่วยให้สามารถอัดเก็บก๊าซชีวภาพได้ในปริมาณมากขึ้น และในรูปแบบที่สะดวกต่อการขนส่งและการใช้งานมากขึ้น ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการกำจัดสิ่งเจือปน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ และความชื้น ทำให้ก๊าซชีวภาพที่ได้มีความบริสุทธิ์สูงขึ้น เหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหาภาชนะและอุปกรณ์โลหะของชาวบ้านที่เสียหายจากการใช้งานก๊าซชีวภาพที่มีสิ่งเจือปนสูง
ปัจจุบัน มีการนำร่องโครงการนี้ที่บ้านทุ่งยาว โดยติดตั้งสถานีอัดก๊าซชีวภาพ 1 แห่ง เพื่อให้บริการแก่ครัวเรือนประมาณ 70 ครัวเรือน ก๊าซชีวภาพที่อัดบรรจุลงในถังมีความดันสูง ทำให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น โดยถังขนาด 47.5 ลิตร สามารถใช้งานได้นาน 5-7 วัน สำหรับถังความดัน 20 บาร์ และนาน 10-15 วัน สำหรับถังความดัน 40 บาร์
จะเห็นแล้วว่าโครงการดังกล่าว ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดและปลอดภัยในราคาที่เอื้อมถึงได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานพลังงาน จ.ลำพูน กำลังดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบรรจุก๊าซชีวภาพลงถังสำหรับใช้ในครัวเรือนให้มีมาตรฐานสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยและขยายการใช้งานให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีบัวบานและบริเวณใกล้เคียงในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซ LPG ในครัวเรือนทั่วทั้งตำบล ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
“กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนหันมาใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และก๊าซชีวภาพ เป็นต้น พลังงานทดแทนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานและลดมลพิษทางอากาศเท่านั้น ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนได้อีกด้วย” เพทาย กล่าวทิ้งท้าย