เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เข้าร่วมประชุม
โดยในระเบียบวาระที่ 4.1 คณะกรรมการวิสามัญฯ รายงานผลการพิจารณา ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. … เพื่อพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม
ซึ่งที่ประชุมสภา กทม.ไม่มีการแปรญัตติ และไม่มีคณะกรรมการสงวนความเห็น จากนั้นที่ประชุมจึงได้โหวตร่างข้อบัญญัติฯดังกล่าว ผลการโหวตคือ เห็นชอบ 34 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน งดออกเสียง 2 คน จากผู้เข้าประชุม 36 คน โดยจะมีการประกาศใช้ข้อบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจังและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่าย โดยเมื่อปี 2562 กทม. มีการขึ้นค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มจาก 20 บาท เป็น 80 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการดำเนินการ พบว่า มีข้อเรียกร้องถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินไป จึงมีการจัดทำร่างข้อบัญญัติขึ้นใหม่ โดยมีการจัดเก็บเป็น 2 ราคา แบ่งเป็น กรณีบ้านทั่วไปที่มีการแยกขยะ คิดค่าบริการเดือนละ 20 บาทต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขว่า ขยะต่อวันต้องไม่เกิน 4 กก.หรือ 20 ลิตร หากบ้านใดไม่มีการคัดแยกขยะจะเสียค่าบริการ 60 บาทต่อเดือน โดยคาดว่าข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า กทม. ได้มีการประสานงานกับสำนักงานเขตทุกเขตให้ประชาสัมพันธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่แก่ประชาชน ในพื้นที่ต่างๆ ได้รับทราบ รวมทั้งรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน เพื่อจะได้ลดรายจ่ายค่าบริการ จากการสำรวจพบว่า บ้านพักในกรุงเทพฯ ประมาณ 2 ล้านหลังคาเรือน อย่างไรก็ตามจากการที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานเขต สำรวจในเบื้องต้นพบว่า มีประชาชนเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวแล้วประมาณ 50,000 หลังคาเรือน จากนี้จะมีการสำรวจไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลมาเทียบเคียงเป็นระยะ
“เราอยากให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ เพราะการคัดแยกขยะจะก่อให้เกิดประโยชน์กับการขนย้ายขยะ และลดภาระค่ากำจัดขยะที่มีจำนวนสูงมาก โดยต้องใช้เงินประมาณ 2,300 บาทต่อ 1 ตัน ซึ่งค่าธรรมเนียมที่เก็บได้ ทุกวันนี้ก็ไม่สามารถที่จะเอามาทดแทนค่ากำจัดขยะที่มีปริมาณมากกว่าอยู่แล้ว ทั้งนี้ กทม. จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ทั้งผ่าน สมาร์ตโฟน ในแอปพลิเคชัน BKK ของ กทม. หรือ วอล์กอินมาที่ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยรับลงทะเบียน และเข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้ยืนยันได้ว่าบ้านที่มาลงทะเบียนมีการแยกขยะจริง ก็จะเก็บค่าธรรมเนียม เพียง 20 บาทต่อเดือน หรือ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่ไปเก็บค่าบริการตามบ้านได้เช่นกัน” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว