เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ขอนำข้อความบางส่วนของศาลจังหวัดนราธิวาสที่กล่าวกับบรรดาญาติ “คดีตากใบ” ในห้องพิจารณาคดีของศาลจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 ต.ค. มาเพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่ศาลซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยได้ทำหน้าที่โดยใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์
กล่าวกับบรรดาญาติ “คดีตากใบ” มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ท่านเป็นเจ้าของประเทศนี้ทั้งประเทศเหมือนทุกคน เป็นสิทธิของท่านที่ฟ้องได้ ท่านทำได้ มีกลไกของรัฐ มีกฎหมายให้ทำได้ ท่านไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง ท่านเป็นพลเมืองไทยเหมือนทุกคนในประเทศนี้”
“คดีนี้ศาลปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่ได้อำนวยความสะดวกเพื่อเอาใจท่าน ไม่ได้เข้าข้างเป็นพิเศษ ไม่ให้เสียความเป็น
กลาง ถ้าฝั่งจำเลยมาศาล ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน”
“ไม่อยากให้หมดหวังกับกระบวนการยุติธรรม เพราะการที่ญาติยื่นฟ้องก็แสดงว่ายังเชื่อมั่นตั้งแต่แรก ดังนั้น “การค้นหาความจริง” ยังไม่จบ ยังใช้กลไกอีกมากภายในประเทศ “ไม่ต้องไปถึงต่างประเทศ” แต่ต้องผลักดันปลายทางความยุติธรรม ให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง”
นายชวลิต กล่าวว่า หลังคำกล่าวของผู้พิพากษาองค์คณะที่มีรวม 3 ท่าน ได้สร้างความซาบซึ้งให้กับญาติผู้เสียชีวิต และได้กล่าวขอบคุณศาลที่อำนวยความยุติธรรมให้จนถึงที่สุด ตนขอชื่นชมและขอบคุณท่านองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 3 ท่าน ที่ใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ กล่าวให้กำลังใจ ให้ข้อคิดกับบรรดาญาติ “คดีตากใบ” ด้วยข้อความที่ลึกซึ้ง กินใจ ดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้บรรดาญาติ”คดีตากใบ” ก็กล่าวแสดงความซาบซึ้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาล
ซึ่งผมมั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความคุกรุ่น ร้อนแรงในจิตใจของบรรดาญาติต่อ”คดีตากใบ” ได้บรรเทาเบาบางลง
นายชวลิต กล่าวอีกว่า ตนนำประเด็นนี้มากล่าวซ้ำต่อสาธารณะก็เพื่อเป็นอนุสติ เป็นข้อเตือนใจกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ
ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติควรนำหลักคิดจากฝ่ายตุลาการ ที่ใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ในการคลี่คลายบรรเทาปัญหา ความคุกรุ่นทางจิตใจของบรรดาญาติและประชาชนทั่วไป เพราะปัญหา 3 จชต.เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน ทุกภาคส่วนต้องไม่หลงกล ที่อาจมีมือที่ 3 ถือโอกาสสร้างสถานการณ์ทำให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวอีกครั้งได้
นายชวลิต กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับมติจากสภา ฯ มอบหมายให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร รับข้อสังเกตจากการอภิปรายในญัตติด้วยวาจาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง “คดีตากใบ” มาทำการศึกษา หลังคดีหมดอายุความว่าจะมีแนวทางในการคลี่คลายปัญหาที่กระบวนยุติธรรมไม่อาจพิจารณาต่อได้เพราะขาดอายุความ แต่ชาวบ้านเห็นว่า อายุความการตามหาความยุติธรรมไม่มีสิ้นสุด ซี่งวันนี้ (30 ต.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ศึกษาหาแนวทางคลี่คลายปัญหาดังกล่าวแล้วรายงานผลการศึกษาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และในวันนี้ที่ประชุมได้กำหนดให้มีจำนวนคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 10 คนโดยได้มีมติเลือก นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ ฯ และผมได้รับการเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการด้วย ทั้งนี้ มีกำหนดเวลาในการศึกษา จำนวน 90 วัน
สุดท้ายนี้ ตนก็หวังที่จะเห็นฝ่ายนิติบัญญัติได้ใช้หลักคิดในการแก้ปัญหา”คดีตากใบ” โดยใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ฝ่ายตุลาการโดยศาลจังหวัดนราธิวาสได้ใช้ในการคลี่คลายปัญหาดังกล่าวข้างต้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและร่วมกันหาแนวทางสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป