งานประชุมวิชาการนำเสนอผลการดำเนินงาน โครงการขอให้หายดี เพื่อผู้ป่วยติดเตียงและครอบครัว ร่วมบูรณาการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงและครอบครัว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน โดยภายในงาน นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ขึ้นเป็นประธานกล่าวเปิดงาน, นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพ ที่ 4 เป็นผู้กล่าวรายงาน ผลการดำเนินงานโครงการขอให้หายดี 4+1 มิติ เพื่อผู้ป่วยติดเตียง จ.ปทุมธานี และยังมีพิธีแสดงเจตจำนงความร่วมมือ (LOI) ระหว่างผู้บริหารสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี, เทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4, องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิเส้นด้าย, บริษัท อัครพันธุ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท วิโรจน์รัตน์ เมเนจเม้นท์ จำกัด พร้อมการแถลงผลการดำเนินโครงการฯ และ การเสวนา จาก นายแพทย์ภุชงค์ ไชยชินสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี, นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, นายแพทย์สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4และนายนนทวัฒน์ บุญบา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งทุน มูลนิธิเส้นด้าย ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยพึ่งพิง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว
โครงการดังกล่าว เป็นโครงการนำร่องจากหลากหลายภาคส่วน รวมถึง สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี, เทศบาลเมืองบึงยี่โถ, สาธารณสุขอำเภอ, โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล, หน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีจุดเริ่มต้นจากความตั้งใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ ซึ่งเป็นภาระที่ครอบครัวหลายแห่งต้องเผชิญ เนื่องจากการรักษาแผลกดทับเป็นกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อน นอกจากด้านสุขภาพแล้ว โครงการได้เล็งเห็นถึงผลกระทบต่อครอบครัวในแง่ของสภาพจิตใจ ความเครียด และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบในระดับครัวเรือนและเศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โครงการจึงได้พัฒนาแนวคิด “สุขภาวะ 4+1 มิติ” เพื่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงแบบองค์รวม (Holistic) โดยมุ่งเน้นให้บ้านผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Homeward / Home Health Care) และบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในทุกด้าน ได้แก่:
- สุขภาวะทางกาย: ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและป้องกันแผลกดทับอย่างเป็นระบบ
- สุขภาวะทางจิตใจ: การสนับสนุนด้านจิตใจทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและไม่ย่อท้อในการดูแล
- สุขภาวะทางสังคม: การสร้างเครือข่ายการสนับสนุนจากชุมชนและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
- สุขภาวะทางปัญญา: การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล เพื่อพัฒนาทักษะในการจัดการปัญหาต่าง ๆ
- สุขภาวะทางการเงิน: ให้คำแนะนำในการจัดการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว
นอกจากนี้ โครงการยังมีแผนพัฒนาขยายขอบเขตการดูแลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ และสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพื่อยกระดับการดูแลให้ครอบคลุมและยั่งยืนในระยะยาว มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้เวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันแผลกดทับ รวมถึงการนำระบบ Telemedicine และ Tele-Consult มาใช้ในการติดตามสุขภาพผู้ป่วยและการปรึกษาแพทย์ระยะไกล ช่วยลดปัญหาการเดินทางของผู้ป่วยและครอบครัว และทำให้การดูแลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การดำเนินงานของโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงในประเทศไทย โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืน