เมื่อวันที่ 30 ต.ค.พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาตามโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ (พิซา) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ.) และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งได้รายงานผลการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับม.ต้น กลุ่มเป้าหมายด้านละ 155 คน จาก สพป.เขต 1 และ สพม. 62 เขต ในทุกจังหวัด และ สพม.กทม. รวม 465 คน เพื่อไปจัดทำคลังข้อสอบที่มีคุณภาพในแต่ละระดับ การใช้ออกข้อสอบกลางภาคและปลายภาค และการติดตามการบูรณาการในชั้นเรียนต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น คือ สพฐ. ในปี 2567 มีจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบ ใช้รูปแบบหนุนเสริม “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” 25 จังหวัด 27 ตำบลต้นแบบ ใน 4 ภูมิภาค ศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 โรงเรียน 3 รูปแบบ รองรับเด็กตกหล่น ใน 4 ภูมิภาค โรงเรียนมือถือใช้แอปพลิเคชันการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime รวมถึงรูปแบบตาข่ายการศึกษา เพื่อการศึกษาที่ยืดหยุ่น เช่น โรงเรียนปรับการศึกษาโดยเน้นชุมชนเป็นฐาน เรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ประเมินตามความแตกต่างของผู้เรียน ทั้งนี้ได้ปรับปรุงข้อมูลการติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามโครงการพาน้องกลับมาและพาการศึกษาไปหาน้องเรียนดี มีความสุข ใน 245 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในปี 2568 เตรียมขยายผลต่อเนื่องจาก 25 จังหวัด สู่ 77 จังหวัด ได้แก่ โครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สู่ “1 อำเภอ 1 สถานศึกษา ต้นแบบ” การศึกษาไร้รอยต่อตามมาตรา 12 โรงเรียนมือถือ โดยนำเทคโนโลยี Chat GPT คอร์สเรียนออนไลน์ แอปพลิเคชัน มาใช้อำนวยความสะดวก รวมทั้งออก Portfolio เทียบ Credit Bank ด้วยระบบ AI
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มีจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบอายุระหว่าง 6-18 ปี ซึ่งผลสำรวจ 55,491 ราย พบตัว 18,715 ราย โดยส่วนใหญ่ไม่ประสงค์รับความช่วยเหลือ รองลงมาต้องการการสนับสนุนด้านการศึกษา สุขภาพ และทักษะอาชีพ ส่วนสาเหตุที่ไม่เข้ารับการศึกษา 5 อันดับแรก ได้แก่ ความจำเป็นทางครอบครัว การย้ายถิ่นที่อยู่ สภาพของครอบครัว สุขภาพอนามัย และผู้ปกครองมีรายได้น้อยไม่เพียงพอ ซึ่งสกร.ประจำจังหวัด และ สกร.ระดับอำเภอ ได้จัดทำแผนการดำเนินงาน พร้อมลงพื้นที่ติดตามและบันทึกข้อมูลผ่านระบบรายงานให้เป็นปัจจุบันต่อไป
“ผมได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยมอบสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นแกนหลัก ในการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยนำข้อมูลแต่ละหน่วยมาวิเคราะห์และวางแผนปฏิบัติร่วมกัน ส่วนในระดับจังหวัด ให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อน ผ่านคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาในพื้นที่ โดยในส่วนผู้เรียนที่อยู่ต่างประเทศ ให้ สกร.ดำเนินการอย่างครอบคลุมด้วย” รมว.ศธ.กล่าว