เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 29 ต.ค. ที่ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย แถลงความร่วมมือในการลดฝุ่นละออง PM 2.5 หลังประชุมมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กทม.ปี 68

นายชัชชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าฤดูฝุ่นที่มาพร้อมฤดูหนาว ปีนี้จะมีมาตรการเพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กทม. (Bangkok Low Emission Zone) จำกัดพื้นที่ไม่ให้รถที่ปล่อยมลพิษเข้ามาในเขตพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ไม่ได้มีอำนาจมากจึงใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้อำนาจผู้ว่าฯ กรณีเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัย สามารถกำจัดต้นตอของสาเหตุสาธารณภัยได้ ซึ่งนำมาทำเป็นประกาศกรณีที่อาจจะเกิดฝุ่นมลพิษสูงตามเงื่อนไข ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้ จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย

เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน เขตบางรัก และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง) เขตจตุจักร (จตุจักร/ ลาดยาว/ จันทรเกษม/ จอมพล) เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง/ สามเสนนอก/ บางกะปิ) เขตดินแดง (ดินแดง/ รัชดาภิเษก) เขตราชเทวี (มักกะสัน) เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ) เขตคลองเตย (คลองเตย) เขตยานนาวา (ช่องนนทรี/ บางโพงพาง) เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม/ บางโคล่) เขตธนบุรี (ดาวคะนอง/ สำเหร่/ บุคคโล/ ตลาดพลู) เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ) เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์/ อรุณอมรินทร์/ บางขุนศรี/ บ้านช่างหล่อ/ ศิริราช) เขตบางพลัด (บางพลัด/ บางบำหรุ/ บางอ้อ/ บางยี่ขัน)

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยเมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม15 เขต ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น อัตราการระบายอากาศ และทิศทางลมมาจากตะวันออก ล่วงหน้า 2 วัน จะออกประกาศดังกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชม. และกำหนดระยะเวลาห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศ คาดเริ่มได้เดือนม.ค.68

นอกจากนี้ จะมี Green List หรือ บัญชีสีเขียว เพื่อให้สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ และมีการบำรุงรักษาตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก และค่าการปล่อยมลพิษไม่เกิดมาตรฐาน สามารถลงทะเบียนเป็นรถบัญชีสีเขียว ขอยกเว้นมาตรการเขตมลพิษต่ำในกทม.ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป แต่หากมีการฝ่าฝืนนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียวเข้าพื้นที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ก่อนหน้านี้เรามีแนวคิดห้ามรถบรรทุกทุกคัน ไม่ให้วิ่งในกรณีมีฝุ่นสูง แต่หากเป็นแบบนั้น จะทำให้รถบรรทุกที่มีการปรับปรุง เตรียมการ หรือรถที่มีคุณภาพสูงจะถูกห้ามวิ่งไปด้วย ซึ่งไม่มีแรงจูงใจให้กับคนทำดี”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเดือน ม.ค.ที่เป็นเดือนฝุ่นหนัก จะมีกล้อง CCTV จำนวน 257 ตัว บันทึกทะเบียนรถบรรทุกที่ฝ่าฝืน พร้อมมีมาตรการตั้งด่านบูรณาการ 14 จุด ร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจตามไซด์ก่อสร้างสถานประกอบการ หรืออู่รถเมล์ด้วย เชื่อว่าจะเป็นมาตรการในเชิงบวกที่ทำให้มีคุณภาพอากาศดีขึ้น ไม่ได้เป็นการปูพรม คนที่ทำดีปล่อยมลพิษน้อยยังสามารถประกอบการในช่วงสภาวะวิกฤตได้ หากห้ามทุกคัน คนที่ทำดีก็จะโดนลงโทษไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ประกอบด้วย โครงการรถคันนี้ลดฝุ่นปี 68 ต่อยอดโครงการเป็นปีที่ 2 ในช่วงเดือน พ.ย.67-ม.ค.68 โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ ตั้งเป้าหมายรถเข้าร่วมโครงการ 500,000 คัน โดยปี 67 มีรถยนต์เข้าร่วมโครงการโดยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง 265,130 คัน ช่วยลด PM 2.5 จากภาคการจราจร 13.26%

นายชัชชาติ ย้ำประชาชนอย่ากังวล กรณีห้ามรถเพราะเป็นการห้ามรถของผู้ประกอบการเป็นหลัก แต่เน้นให้ประชาชนเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง พยายามดูแลรถของตนเองทั้งรถดีเซลและรถเบนซิน ร่วมโครงการ Work From Home ส่วนผู้ประกอบการรถบรรทุกขนาด 6 ล้อขึ้นไป รถโดยสารที่มีโอกาสปล่อยมลพิษ ขอให้นำรถไปดูแลบำรุงรักษา และนำรถเข้ามาในบัญชีสีเขียว ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประกาศห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯชั้นใน ในช่วงที่ฝุ่นอยู่ในช่วงอันตรายก็เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษและลดความอันตรายต่อสุขภาพ

ด้านปลัดกระทรวงพลังงาน เผยในส่วนกระทรวงพลังงานประสานกับผู้ประกอบการ ผู้ค้าน้ำมัน ให้ส่วนลดบริการตรวจเช็คเครื่องยนต์ เปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ให้สูงสุดถึง 40 % เพื่อแบ่งเบาภาระ

ขณะ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากที่ดำเนินการเข้มข้นในปี 67 พบสถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นโดยปี 68 มีแผนเพิ่มความเข้มข้น 3 พื้นที่หลัก ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ได้แก่ การจัดการเขตพื้นที่ป่า ควบคุมพื้นที่เผาไหม้ป่า พุ่งเป้าลดความรุนแรงลง 25 % เขตพื้นที่การเกษตร ควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผา พืชผลทางการเกษตร ทั้งข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ตั้งเป้าลดลง 10-30 % และเขตพื้นที่เมือง รวมถึงกทม.เพิ่มความเข้มข้น 100 % ในการควบคุมภาคอุตสาหกรรม และยานยนต์ .