นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สดช.) เปิดเผยว่า สดช.ได้การดำเนินโครงการศึกษา ไทยแลนด์ ดิจิทัล เอ้าท์ลุค ประจำปี  2567 เพื่อศึกษาตัวชี้วัดด้านการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลของประเทศไทย โดยอิงข้อมูลจาก โออีซีดี พบว่า ตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้นในทุกมิติ เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนในประเทศไทยอยู่ที่ 90.3% (21.7 ล้านครัวเรือน)  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 89.5% (21.0 ล้านครัวเรือน)

โดยประชากรช่วงอายุ 16 – 74 ปี มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตคิดเป็น 90.7% (50.1 ล้านคน) เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 89.5% (49.2 ล้านคน)  ขณะทีแรงงานดิจิทัลที่ทักษะเฉพาะทางเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.63 แสนราย เป็น 2.78 แสนราย โดยมีผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในอาชีพ โปรแกรมเมอร์ และ ช่างเทคนิคปฏิบัติการด้าน ไอซีที ส่วนประชาชนกลุ่มเปราะบาง (บุคคลทั่วไปที่มีระดับรายได้ครัวเรือนอยู่ในช่วง 25% ที่ต่ำที่สุด) มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ 74.60% (12.12 ล้านคน) เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่  69.90% (11.23 ล้านคน) นอกจากนี้สัดส่วนจำนวนนักศึกษาจบใหม่ระดับอุดมศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ 33.26% (101,411 ราย จากจำนวน 304,925 ราย) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 23.69%

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นแล้วพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตคนไทยเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 20 นาที เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่เฉลี่ยวันละ 7 ชั่วโมง 25 นาที โดยพบว่า ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสาร และการทำธุรกรรมทางการเงิน และการพักผ่อน/บันเทิง สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ของประชาชน เพิ่มสูงขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ซื้อสินค้าออนไลน์จะมีการซื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมีมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเดิม 375 บาท/ครั้ง เป็น 428 บาท/ครั้ง โดยมีสินค้าที่เป็นที่นิยมสูงสุดสามอันดับแรกคือ เสื้อผ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือ ตามลำดับ โดยช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ อี มาร์เก็จเพรส เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ซึ่งผู้ซื้อสินค้าออนไลน์นิยมใช้ช่องทางนี้สูงถึง 95.98%  ตามมาด้วย  โซเชียล คอมเมิร์ซ ได้แก่ ติ๊กต็อก ไลน์ และเฟซบุ๊ค อยู่ที่  47.18 %