เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสส.กทม. และอดีตประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร นำสื่อมวลชนตรวจสอบทางเดินเท้าที่ปูด้วยหินวิชิตาสีส้ม บริเวณรอบรอบศาลาแก้วด้านหน้าอาคารรัฐสภา ถ.สามเสน ซึ่งไม่มีฐานปูนรองรับแผ่นหินวิชิตาเกินกว่าครึ่ง คือแผ่นหินวิชิตา มีความกว้าง 60 x 60 ซม. แต่สามารถสอดแท่งตะเกียบไม้เข้าไปใต้แผ่นหินวิชิตาได้มากกว่า 20 ซม.

โดยนายวิลาศ กล่าวว่า การทำงานโดยปูแผ่นหินที่คำนึงถึงความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หากมีงานรัฐพิธี หรือพิธีต่างๆของสภาฯที่ต้องใช้สถานที่นี้ และมีการแขกมาร่วมงานจำนวนมาก เดินหรือยืนบนแผ่นหินอาจทำให้แผ่นหินรับน้ำหนักไม่ได้ และแตกหัก อาจเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บหรือสูญเสียได้ เพราะเป็นการปูครอบรางน้ำทิ้งครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งปูเข้าไปในพื้นที่ของศาลาแก้ว ซึ่งตนจะส่งเข้าประกวดรางวัลโนเบลไพร์ซสาขาสิ่งมหัศจรรย์ของโลก โดยนายวิลาศได้นำไม้ตะเกียบยาว 20 ซม.สอดเข้าไปพร้อมมือใต้แผ่นหินให้สื่อมวลชนดูอีกด้วย ทั้งนี้ การปูแผ่นหินดังกล่าวปูมาตั้งแต่ทางเดินเข้าศาลาแก้วทั้งริมด้านซ้ายและขวา รวมถึงโดยรอบศาลาแก้ว

นอกจากนี้นายวิลาศ ยังกล่าวถึงการทำผิดสัญญา ซึ่งสัญญาระบุไว้เป็นไม้สักเพื่อปูเป็นไม้กระดานพื้น ต้องเป็นไม้ที่ผ่านการอบ มีความชื้นของเนื้อไม้16 % คือต้องเป็นไม้ที่อบแห้งแล้ว และต้องเคลือบน้ำมันเคลือบไม้เพื่อรักษาเนื้อไม้ เพื่อปูแล้วจะมีร่องระหว่างไม้ไม่เกิน 2 มม. แต่ที่เห็นทั้งพื้นศาลาที่เป็นไม้สัก มีเนื้อไม้หด แสดงว่าไม้ไม่ได้อบ มีช่องว่างระหว่างแผ่นไม้มากเกินไป ทั้งศาลาและพื้นไม้โดยรอบอาคารชั้นล่างทั้งหมด ต่างจากการปูพื้นไม้ก่อนเข้าห้องประชุมสภาฯ ชั้น 2 ที่ได้มาตรฐานตรงตามสัญญา

นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันยังมีการสร้างงาน หลังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เซ็นรับมอบอาคารแล้วเสร็จ เป็นการแก้ปัญหาสุกเอาเผากิน เมื่อกรณีเกิดฝนตก ทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารมีฝนสาด มีน้ำฝนทะลักเข้าตัวอาคาร บริเวณโถงห้องแถลงข่าวใกล้ศาลาแก้ว เขาใช้วิธีก่ออิฐโบกปูนยาวกว่า 2 ม. พร้อมซีลยางกันน้ำเข้า ซ้ำยังปิดประตูตายล็อคกุญแจห้ามใช้ประตูดังกล่าวเป็นการถาวร และไม่ได้มีจุดนี้จุดเดียว แต่ยังมีด้านบนชั้นอื่นๆที่ทำในลักษณะนับ10ประตู ทั้งนี้ตนยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก่อนที่เลขาสภาฯ จะเซ็นรับมอบงานก่อสร้าง100 %  รวมแล้ว36เรื่อง เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องส่อทุจริต ทำผิดสัญญา ทำให้รัฐเสียหาย และยื่นเรื่องให้ตรวจสอบหลังการเซ็นรับมอบงาน100 % อีก 20 เรื่อง คาดว่ายังมีเรื่องอื่นๆ ที่ตรวจพบ มีความเสียหายตีเป็นมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท อีกอย่างน้อย10 เรื่อง.