นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ครั้งใหญ่ ส่งผลให้น้ำหลากเข้าท่วมโบราณสถานในเวียงกุมกาม ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้น้ำจะหลากผ่านไปแล้วแต่ยังท่วมขังในพื้นที่โบราณสถานต่อเนื่อง เพราะระดับน้ำใต้ดินพื้นที่รอบ ๆ ยังไม่ลดลง แม้กรมศิลปากรจะพยายามสูบน้ำออกอย่างต่อเนื่อง ทำให้โบราณสถานวัดกู่ป้าด้อมมีน้ำหลากท่วมสูงกว่า 2 เมตรเป็นเวลานาน ส่งผลให้ลวดลายปูนปั้นประดับราวบันไดวิหาร “ลายมกรคายมังกร” งานปูนปั้นที่มีคุณค่าความสำคัญด้านศิลปกรรมและหาชมได้ยากในดินแดนล้านนา ต้องจมอยู่ในน้ำนานเกือบเดือน ซึ่งล่าสุดทั้งกรมศิลปากร และจังหวัดเชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังภายในโบราณสถานวัดกู่ป้าด้อม แม้ยังมีน้ำใต้ดินไหลซึมเข้ามาในพื้นที่เรื่อยๆ แต่ก็ยังพอให้ มังกร พ้นน้ำขึ้นมาได้บางส่วนแล้ว โดยกรมศิลปากรจะค่อยๆ สูบน้ำออกต่อเนื่องไปจนกว่า มังกร จะลอยพ้นน้ำ จึงจะเริ่มขั้นตอนการอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้น “มกรคายมังกร” ราวบันไดวิหารวัดกู่ป้าด้อม เวียงกุมกาม

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า สำหรับขั้นตอนการอนุรักษ์ ขณะน้ำลดจะดำเนินการคลุมลวดลายปูนปั้นด้วยผ้าที่มีเส้นใยลักษณะหนาและมีความนุ่ม เพื่อรักษาความสมดุลของอุณหภูมิของลวดลายปูนปั้นกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อลวดลายปูนปั้น ภายหลังน้ำลดแล้วจะคลุมด้วยผ้าแห้งที่มีความสามารถระบายอากาศได้ดี เพื่อการระบายความชื้นภายในของชั้นปูน โดยคอยตรวจสภาพการแห้งของลวดลายปูนปั้นเป็นระยะๆ จนกว่าจะแห้งสนิท (ระบายตามธรรมชาติ) จากนั้นเป็นขั้นตอน ฟื้นฟู คืนสภาพ คือ เมื่อลวดลายปูนปั้นแห้งสนิทแล้ว จะทำการตรวจสอบสภาพการชำรุด ทำความสะอาด และอนุรักษ์ตามอาการที่ชำรุด เช่น หากปูนปั้นมีร่องรอยการเผยอ ปริ แตกออก ให้ทำการผนึกกลับดังเดิม หรือหากปูนปั้นมีการโป่งพองให้ทำการเจาะอัดฉีดน้ำปูนหมักชนิดเหลว โดยต้องรักษาสภาพของลวดลายเดิมให้คงไว้มากที่สุด

ทั้งนี้ เมืองโบราณเวียงกุมกาม เป็นราชธานีแห่งแรกของล้านนา โดยมีการค้นพบหลักฐานสำคัญหลายอย่าง เช่น ชั้นดินทางโบราณคดีที่ชี้ชัดว่าเคยถูกน้ำท่วมมาก่อน ถ้วยชามลายสัตว์มงคลของจีนจารึกระบุชื่อกุมกาม และได้ค้นพบสิ่งสำคัญที่โดดเด่นมาก คือ มังกร ลวดลายปูนปั้นที่ราวบันไดกู่ป้าด้อม