เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ต.ค. ที่โดมเอนกประสงค์วิทยาลัยเทคนิคระยองนายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อร่วมพัฒนาคนสมรรถนะสูง สร้างอาชีพที่ทันสมัย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมีนายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผอ. วิทยาลัยเทคนิคระยอง ลงนามร่วมกับสถานประกอบการ จำนวน 118 แห่ง มีสถานประกอบการร่วมจัดการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และสถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคี หน่วยภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน สถานศึกษาสังกัด สพฐ. สกร. ท่ามกลางสักขีพยานจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการมอบโล่หน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการผู้มีอุปการะคุณในการอุทิศตนเพื่อพัฒนาการศึกษา 76 แห่ง และบูธนิทรรศการผลงานการจัดการเรียนการศึกษาศูนย์บมเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคระยอง มาแสดงโชว์ในงานด้วย

ทั้งนี้พิธีลงนามความร่วมมือจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ สามารถพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเท่าทันเทคโนโลยีปัจจุบันและเชื่อมโยงองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาการทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต และพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านความรู้ ด้านทักษะและด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละระดับการศึกษาการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นไปตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มาตรฐานของชาติกรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ

ตลอดจนยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพ รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับสถานประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ เกิดความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาผู้สอนทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ และสร้างแรงจูงใจใฝ่เรียนของผู้เรียน พัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ยังเพื่อรองรับความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จึงเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่กำหนดสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษาจากความต้องการของสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริงอีกด้วย

นายวิทวัต เปิดเผยว่า การลงนาม MOU กับสถานประกอบการที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีคือ อันดับแรก จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถานประกอบการเองที่จะได้คนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของสถานประกอบการเองว่าจบไปแล้วสามารถใช้งานได้เลย ไม่ต้องไปฝึกใหม่ ส่วนประโยชน์ของผู้เรียน ก็จะมั่นใจได้ว่าจบไปแล้วมีงานทำแน่นอน มีสถานประกอบการรองรับ ซึ่งที่ผ่านมาการลงนามกับสถานประกอบการถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ตัวเลขผู้เรียนระบบทวิภาคียังไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้เรียนในระบบทวิภาคีเพิ่มขึ้นถึง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะเพิ่มขึ้น เพราะว่าทางเรามีนโยบายดูแลผู้เรียน ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าส่งบุตรหลานมาเรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพแน่นอน.