“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเปิดซองข้อเสนอราคาของ 2 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาPCORและPCOL ในงานจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมงาน(Project Consultant) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)  โดยวิธีคัดเลือกครั้งที่ 2 วงเงิน 4,337 ล้านบาท หลังจากยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ที่มีกลุ่มที่ปรึกษายื่นรายเดียว ทำให้ไม่มีคู่แข่งขัน  เพื่อนำผลการคัดเลือกเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. ชุดใหม่พิจารณาเพื่อเริ่มงานทันที

เนื่องจากขณะนี้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือCK เป็นผู้รับจ้างงานโยธา ได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม.แล้วบางจุด เพื่อสำรวจเจาะดิน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอใช้พื้นที่สาธารณะและรื้อย้ายสาธารณูปโภคแล้ว  มีแผนก่อสร้างจุดแรกบริเวณประตูน้ำต้นปี 68 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจราจรอย่างมาก เนื่องจากต้องรื้อสะพานข้ามแยกประตูน้ำ แยกราชเทวี และแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ด้วย  ภาพรวมโครงการขณะนี้มีความคืบหน้า 1.01% แล้ว

ทั้งนี้มีรายงานข่าวด้วยว่า  ล่าสุด BEM ได้ข้อสรุปโดยคัดเลือกให้“ซีเมนส์” เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว รูปแบบคล้ายรถไฟฟ้าของสายสีน้ำเงินโดยจะผลิตในยุโรป  อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดอื่นๆ ของขบวนรถไฟฟ้าสายสีส้ม เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องขอเตรียมความพร้อมเพื่อแถลงรายละเอียดต่อไป

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า  ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.ค.67 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ(ราชประสงค์) ในวันทำพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธาและจัดหาระบบรถไฟฟ้าระหว่างนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM และนายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CK นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร BEM และรองประธานกรรมการบริหาร CK ในฐานะสักขีพยานให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นเรื่องขบวนรถเพื่อมาใช้เดินรถไฟฟ้าสายสีส้มว่าจะจัดหาทั้งหมด 32 ขบวน (ขบวนละ 3 ตู้) เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จะทยอยนำมา 16 ขบวนก่อน เพื่อมาเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีที่ก่อสร้างเสร็จ100%ประมาณปลายปี70 ที่เหลืออีก 16 ขบวน จะนำมาใช้เดินรถส่วนตะวันตกประมาณกลางปี 73  

ด้านนายสมบัติ ให้สัมภาษณ์ในช่วงนั้นว่า กำลังพิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้าเหลือ 2 รายซึ่งเป็นรายเดิมที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันโดยสายสีม่วง เป็นของบริษัทญี่ปุ่น ส่วนสายสีน้ำเงินเป็นของบริษัทเยอรมัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้  พร้อมจะเพิ่มขบวนรถใหม่ของสายสีน้ำเงินจะสะดวกกว่าการเพิ่มตู้ขบวนรถ เพราะขบวนรถเป็นฟีดเดอร์ที่จะป้อนเข้าระบบ เพิ่มความถี่ในการให้บริการ รองรับผู้โดยสารได้มากหากใช้วิธีเพิ่มตู้จาก 3 เป็น 4 ตู้ต่อขบวน ต้องปรับปรุงชานชลา ประตูกั้นชานชาลาและระบบอาณัติสัญญาณ โดยจะทยอยสั่งซื้อขบวนรถสายสีน้ำเงิน 21 ขบวน(ขบวนละ 3 ตู้) วงเงินหลักพันล้านบาท ให้ความสำคัญกับขบวนรถสายสีส้มก่อน ส่วนสีน้ำเงินจะพ่วงซื้อตามทีหลัง ปัจจุบันสายสีน้ำเงินมีรถให้บริการ 54 ขบวน ทั้งนี้ขบวนรถใหม่สายสีน้ำเงินจะทยอยมาทันก่อนการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากขึ้น

 “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า สำหรับขบวนรถไฟฟ้าของสายสีน้ำเงิน54 ขบวนในปัจจุบันเป็นของ         ซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร (EMU-IBL)  57 ตู้ (19 ขบวน) ขบวนละ 3 ตู้และซีเมนส์ บีแอลอี (EMU-BLE) 105 ตู้ (35 ขบวน)  ขบวนละ 3 ตู้

ในส่วนของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ยื่นข้อเสนอ2ราย คือกลุ่มPCOR ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท โชติจินดาคอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ไทย ทรานซิท โซลูชั่นส์ จำกัด, บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ยื่นรายเดียว  ส่วนคู่แข่งขันคือกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PCOL ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท ดับเบิลยูเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ยูทิลิตี้ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด(มหาชน), บริษัท ดอร์ช คอนซัลท์ เอซีย จำกัด, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด