เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขอบคุณนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและเอกชนทุกภาคส่วน ในการร่วมแรงร่วมใจเข้าฟื้นฟูให้กับพี่น้องที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยขณะนี้การฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ระยะที่ 1 ที่จังหวัดเชียงราย ทั้งที่ อ.แม่สาย และเทศบาลเมืองเชียงราย ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว หลังจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา ระดมกำลังช่วยเหลือตลอดช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา  โดยในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.) นายภูมิธรรม ในฐานะ ผอ.ศปช. พร้อมด้วยพล.อ.ณัฐพล ในฐานะที่ปรึกษาศปช.ส่วนหน้า และน.ส.ธีรรัตน์ ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า จะเดินทางไป อ.แม่สาย เพื่อส่งมอบคืนพื้นที่ให้หน่วยงานท้องถิ่นสานต่อภารกิจฟื้นฟูระยะต่อไป จากนั้นจะเข้าสู่การดำเนินนโยบาย “แอ่วเหนือ คนละครึ่ง” จ.เชียงราย พร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเตรียมจัดกิจกรรมตลอดฤดูกาล เช่น เทศกาลลอยกระทง, เทศกาล Lanna Winter Wonderland, งานเชียงรายดอกไม้งามปีที่ 21 และตักบาตรดอกไม้

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า จ.เชียงใหม่ ก็พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นแล้วเช่นกัน ซึ่งบรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่เริ่มคึกคัก เช่น งานเชียงใหม่เมืองแห่งเทศกาลบอลลูน ที่สวนดอกไม้ป้านกเอี้ยง เปิดให้ชมวันนี้วันสุดท้าย นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินชมความสวยงามของบอลลูนมากถึง 28 ลูก กลางทุ่งดอกไม้หลากสี พร้อมเปิดประสบการณ์บินบอลลูน รวมทั้งที่บ้านป่าบงเปียง อ.แม่แจ่ม ใกล้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นักท่องเที่ยวแห่ไปสัมผัสทะเลหมอกสุดงามตา ที่โอบล้อมด้วยนาขั้นบันไดที่สวยที่สุดใน จ.เชียงใหม่ และล่าสุดได้รับรายงานจาก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่าได้โอนเงินเยียวยา 9,000 บาท เข้าบัญชีผู้ประสบอุทกภัยแล้ว 10,863 ครัวเรือนใน 10 อำเภอ รวมเป็นเงิน 97,767,000 บาท ทั้งนี้ หลังประชาชนยื่นเอกสารขอรับเงินเยียวยาแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ หากเอกสารครบข้อมูลถูกต้องก็พร้อมอนุมัติให้ประชาชนได้ทันที

ส่วนสภาพอากาศวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.) นายจิรายุ กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยายังเฝ้าติดตามพายุโซนร้อน “จ่ามี” ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่ง เมืองดานังของเวียดนาม แต่จะไม่พัดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม แต่อาจส่งผลให้ไทยมีเมฆเพิ่มขึ้น และจะมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในระบบชลประทานในภาคอีสาน จะเป็นผลดีต่อการเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่ยังมีน้ำกักเก็บไว้สำหรับหน้าแล้งปีหน้าไม่มากนัก ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ (ฝั่งอันดามัน) จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ขณะที่วันที่ 29 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยตอนบน อากาศเริ่มเย็นลงและเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างเป็นทางการ

“ระยะนี้ แม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว แต่ยังมีฝนในภาคอีสาน ที่ จ.สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานีและศรีสะเกษ แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากระดับน้ำ ณ สถานีวัดระดับต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ลดลงและทรงตัว มีเพียงสถานีโขงเจียมมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ซม. ทั้งนี้ยังต้องติดตามสภาพอากาศกับหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก มีการประเมินว่าพายุโซนร้อน “จ่ามี” แม้จะเคลื่อนตัววกกลับไปในทะเลจีนใต้ จากแรงดึงดูดของพายุ “กองเร็ย” ที่เคลื่อนตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมา แต่ยังจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังและฟังคำเตือนจาก ศปช.อย่างใกล้ชิด” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ถึงวันที่ 29 ต.ค.นี้ กรมทรัพยากรธรณี เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในภาคใต้ 6 จังหวัด ที่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ภาคตะวันออก ที่ จ.ตราด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและจุดเสี่ยง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำและกำลังพล เพื่อเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง กรมชลประทาน ยังคงการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาอัตราเดิม 1,699 ลบ.ม.ต่อวินาที