“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”  รายงานว่า  รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการทางพิเศษ (ด่วน) ยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทาง 17 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (กก.วล.) แล้ว

แต่ต้องรอการแก้ไขสัญญาสัมปทานการบริหารทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ระหว่าง กทพ. กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะก่อสร้างได้ ร่างแก้ไขสัญญาฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ก่อนหน้านี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้ข้อมูลผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ (ข่าวแจก) ว่า คาดว่า กทพ. และ BEM จะลงนามแก้ไขสัญญาร่วมกันได้ในเดือน ธ.ค.67 โดยขยายสัญญาสัมปทานให้ BEM ในระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือนด้วย จากเดิมสิ้นสุดสัญญาในเดือน ต.ค.2578 แลกกับการให้ BEM ลงทุนก่อสร้างโครงการ Double Deck มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นทางด่วนชั้นที่ 2 สายแรกและยาวที่สุดของไทย จากเดิมจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของทางด่วนแต่ละสาย และมีระยะทางแค่ช่วงสั้นๆ

จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ  ระยะเวลาสัมปทานที่ขยายเพิ่มออกไป กทพ. พิจารณาด้วยความรอบคอบ และยืนยันว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ซึ่งนายสุริยะได้เน้นย้ำว่าทุกกระบวนการในการดำเนินงาน ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ละเอียดรอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้

การขยายสัมปทานไม่เกี่ยวกับการปรับลดค่าผ่านทาง ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กม.จาก 90 บาท  ให้เหลือไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย   การให้ BEM ปรับลดค่าผ่านทางเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้แก่ประชาชน แลกกับการปรับเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ. กับ BEM จากเดิม กทพ. 60% และเอกชน 40% ให้เอกชนเพิ่มเป็น 50% : 50% เพื่อชดเชยให้     

ตามแผนงานหาก ครม. เห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขสัมปทานฯ และสามารถลงนามสัญญากับ BEM ได้ภายในปลายปี 67 จะเริ่มงานก่อสร้างทันที ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปลายปี 71 จะช่วยบรรเทาวิกฤติการจราจรติดขัดบนทางด่วนในปัจจุบัน โดยแยกผู้ใช้ทางที่ต้องการเดินทางระยะใกล้ ให้ใช้ทางด่วนศรีรัชเดิม

ส่วนผู้ที่เดินทางระยะไกล ใช้ทางด่วน Double Deck ได้ ช่วยแก้ไขปัญหาจุดตัดกระแสจราจร เพิ่มความจุบนทางด่วน และลดระยะเวลาเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า และเย็น ในการก่อสร้าง Double Deck ไม่มีการเวนคืนที่ดิน แต่ขอเรียกพื้นที่ กทพ. คืน โดยเฉพาะบริเวณใต้ทางด่วน ซึ่งมีสัญญาเช่าประมาณ 100 ราย.