ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานข้างสมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาว ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 “งานวันไหล รวมใจชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสด ลด PM 2.5” ซึ่งสมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาวร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสมาชิกชาวไร่อ้อย และรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนสถาบันชาวไร่อ้อยต่างๆ


โดยมีนายสมหวัง วงศ์คำ นายอำเภอสามชัย นายสิทธิบูรณ์ รัชตะสุวิโรจน์ ประธานสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน นายทิวากร ศิริกูล เลขาสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาว นายสมศักดิ์ ขวัญแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาว นายพิพัฒน์ จรรยาจรัสพร ผู้อำนวยการใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน นายพิษณุ บุญศรี ผจก.บริหารส่งเสริมสรรหาและพัฒนาเพิ่มผลผลิตอ้อย นายวีระพงษ์ ธาราเกษม ผจก.โรงงานฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสมาคมชาวไร่อ้อย และเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,500 คน

นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์มีสมาคมชาวไร่อ้อย 2 แห่ง คือสมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาว และสมาคมชาวไร่อ้อย จ.กาฬสินธุ์ มี 2 โรงงาน ซึ่งมีสมาชิกรวมกันมากกว่า 15,000 คน มีเนื้อที่ปลูกอ้อยกว่า 4.4 แสนไร่ รวมผลผลิตปีละประมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งมีเงินหมุนเวียนและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากถึงปีละ 5,000–6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในเรื่องของการปลูกอ้อย ทางด้านนายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้รณรงค์อย่างเข้มข้น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้งดการเผาอ้อย เพื่อป้องกันและลดฝุ่นละออง PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง


ด้านนายสมศักดิ์ ขวัญแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาว กล่าวว่า สมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาวมีสมาชิกที่สังกัดสมาคมฯ ประมาณ 2,500 ราย มีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 145,900 ไร่ ปลูกอ้อยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์, อุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง ฤดูการผลิตปี 2566/67 มีอ้อยเข้าหีบ โรงงานอุดสาหกรรมน้ำตาลอีสาน 848,122.270 ตัน ซีซีเอส เฉลี่ย 13.62 ccs. สำหรับการจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ในครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสมาชิกชาวไร่อ้อยและรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนสถาบันชาวไร่อ้อยต่างๆ


ขณะที่นายสิทธิบูรณ์ รัชตะสุวิโรจน์ ประธานสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า อยากฝากไปยังรัฐบาลว่า ขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยในภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังมีพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่ยังคงรอคอยความช่วยเหลือ ในเรื่องค่าเก็บเกี่ยวผลผลิตตัดอ้อยสดตัน 120 บาท ตามที่รัฐบาลรับปากไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกขบวนการเราได้ดำเนินการมาหมดแล้ว ตั้งแต่การไปยื่นหนังสือกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 วันที่ 29 สิงหาคม 2567 ไปพบท่านภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะที่เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็ได้สั่งการมายังสำนักงานอ้อย ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งดำเนินการภายใน 1-2 เดือน เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย


นายสิทธิบูรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เราก็ได้เข้าพบท่านเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เข้าพบกับท่านนายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ก็บอกว่าภายใน 1 สัปดาห์ ให้พี่น้องเกษตรกรรอฟังข่าวดี แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับข่าว หรือความคืบหน้าจากสำนักงานอ้อย กระทรวงอุตสาหกรรมเลย จึงทำให้ไม่ได้รับทราบนโยบายของภาครัฐว่าจะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างไร


ดังนั้นภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2567 นี้ หากเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้านี้ สถาบัน และสมาคมต่างๆ รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะเดินทางไปทวงถามความคืบหน้ากับผู้ที่เกี่ยข้อง อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงไปยังท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ท่านเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และท่านนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ช่วยมองเห็นความลำบากของพี่น้องเกษตรกรให้สั่งการเร่งช่วยเหลือด้วย ชาวไร่อ้อย เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรได้ให้ความร่วมมือภาครัฐทุกอย่าง และในอาชีพนี้นำรายได้มาพัฒนาประเทศตลอด


ด้านนายดร ศรีโสภา นายกสมาคมชาวไร่อ้อยบุรีรัมย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความยากลำบากของเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพราะต้องแบกรับค่าจ้างตัด ค่าปุ๋ย ค่าแรง และให้มีความชัดเจนในเรื่องการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวผลผลิตตัดอ้อยสด รวมทั้งมีความชัดเจนของในเรื่องราคาอ้อยไหม้ด้วย